พ.ร.บ รถยนต์ คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง ทำไมต้องทำประกันภาคบังคับ?
เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้จักคำว่า พ.ร.บ. รถยนต์กันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจดีนักว่า พ.ร.บ. คืออะไรกันแน่ เพราะหลายคนอาจรู้ว่าต้องชำระภาษีทะเบียนรถยนต์เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว พ.ร.บ. รถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องต่ออายุในทุก ๆ ปีเช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้หลายคนเกิดความสับสนระหว่าง พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ บทความนี้จะไขทุกข้อสงสัยของ พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร พร้อมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ได้ในบทความนี้
พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร
พ.ร.บ รถยนต์ หมายถึง ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกำหนดไว้ว่าเจ้าของรถยนต์ที่มีชื่อตามในเล่มทะเบียนรถจะต้องต่อพรบรถยนต์ หรือประกันภัยภาคบังคับทุกปี และพรบรถยนต์ก็ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญอีกชิ้นที่จำเป็นจะต้องใช้เมื่อต้องต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้งานทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และถ้าหากฝ่าไม่ทำ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมาย
พ.ร.บ รถยนต์ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ประสบภัยจากการใช้งานรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเป็นฝ่ายถูก หรือเป็นฝ่ายผิด หากเกิดอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายขึ้น พรบรถยนต์ก็จะให้ความคุ้มครองที่ตามกฎหมายอย่างแน่นอน
ความสำคัญของการทำประกันภาคบังคับ พ.ร.บ. รถยนต์
สิ่งสำคัญของการทำพ.ร.บ. รถยนต์ คือ พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ที่ถ้าหากเจ้าของรถยนต์ และจักรยานยนต์ไม่ได้ทำประกันภาคสมัครใจไว้ ก็ยังมีประกันภัยภาคบังคับที่เกิดจากการทำ พ.ร.บ. รถยนต์คอยให้ความคุ้มครองในส่วนหนึ่ง แต่ความสำคัญอีกอย่าง คือ การทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับจะช่วยให้ความคุ้มครองทั้งกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด ประกันภัยภาคบังคับจาก พ.ร.บ. รถยนต์นี้ก็จะให้ความคุ้มอย่างแน่นอน
และการประกันภัยภาคบังคับอย่าง พ.ร.บ. รถยนต์นี้ ถ้าหากไม่ได้ทำการต่ออายุ รถยนต์ของคุณก็จะไม่สามารถทำการเสียภาษีรถยนต์ได้ และเมื่อคุณขับขี่รถยนต์ที่ไม่ได้ทำการเสียภาษี โดยสังเกตได้จากป้ายภาษีที่เหลือ ที่แปะอยู่หน้ากระจกรถ ก็มีโอกาสที่ทำให้คุณต้องโดนตำรวจโบกเรียก และโดนใบสั่งเพราะผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง
โดยใจความสำคัญของประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ คือการมอบความคุ้มครองให้กับผู้ที่ประสบภัยจากการใช้รถ โดยที่ไม่สนว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายก็จะได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ โดย พ.ร.บ. รถยนต์จะให้ความคุ้มครองที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1.พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น
พรบรถยนต์จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ ค่าเสียหายในกรณีทุพพลภาพ และเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด โดยจะชดใช้ให้ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับคำร้อง
1.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่บาดเจ็บ
ได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
2.มีการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร
หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท/คน
3.กรณีเสียชีวิต
เกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท/คน
2.พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทน จะได้รับหลังจากมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก จะมีจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
1.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่บาดเจ็บ
ได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 85,000 บาท/คน
2.มีการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร
หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นการสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าทดแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 – 500,000 บาท/คน เช่น การสูญเสียนิ้ว ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 200,000 บาท การเสียอวัยวะ 1 ส่วน ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 250,000 บาท การเสียอวัยวะ 2 ส่วน ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 500,000 บาท และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจุดที่สูญเสียอวัยวะ และเงื่อนไขอื่นที่ข้อกฎหมายมีกำหนดไว้
3.กรณีเสียชีวิต
เกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/คน
4.กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลแบบ “ผู้ป่วยใน”
จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ได้รับรวมกันสูงสุดไม่เกิน 20 วัน
พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่คุ้มครองเรื่องอะไรบ้าง
พรบรถยนต์ช่วยคุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุบัติเหตุแล้ว ก็ยังมีหลายกรณีที่ตัวพรบรถยนต์ไม่คุ้มครองหากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
1.ขับขี่ออกนอกประเทศไทย
พรบรถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ไม่ให้ความคุ้มครองหากเกิดอุบัติเหตุนอกพื้นที่นอกประเทศไทย รวมประถึงประกันรถยนต์ภาคสมัครใจก็เช่นกัน ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะในพื้นที่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องขับขี่ออกนอกประเภท ควรมีการทำประกันภัยรถยนต์รูปแบบอื่นที่ให้ความคุ้มครองเมื่อขับขี่ไปนอกประเทศไว้ด้วย
2.ความเสียหายที่เกิดจากการถูกยักยอก กรรโชก รีดเอาทรัพย์
ในกรณีนี้พรบรถยนต์ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง แต่เจ้าของรถยนต์ก็จำเป็นจะต้องไปแจ้งความเอาไว้ เผื่อคนร้ายนำรถไปชน และพรบรถยนต์ยังคุ้มครองคนร้าย จะได้สามารถติดตามคนร้ายได้
3.ใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ในกรณี ดักจี้ปล้นชิงทรัพย์ ขนยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมาย รวมไปถือใช้เพื่อขนแรงงานผิดกฎหมาย ในกรณีนี้ทั้งพรบรถยนต์ที่เป็นประกันภัยภาคบังคับ และทั้งภาคสมัครใจก็ไม่ให้ความคุ้มครองอย่างแน่นอน
4.การแข่งขันความเร็ว
การนำรถยนต์ไปแข่งความเร็ว ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน และพรบรถยนต์ก็ไม่ให้ความคุ้มครองในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน
เบี้ยประกัน พ.ร.บ. รถยนต์แต่ละประเภทราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการต่อพรบรถยนต์
ประเภทรถยนต์ |
ราคา |
รถส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง | 600 บาท |
รถส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 15 ที่นั่ง | 1,100 บาท |
รถส่วนบุคคลเกิน 15 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 20 ที่นั่ง | 2,050 บาท |
รถส่วนบุคคลเกิน 20 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 40 ที่นั่ง | 3,200 บาท |
รถส่วนบุคคลเกิน 40 ที่นั่ง | 3,740 บาท |
ค่าใช้จ่ายในการต่อพรบรถจักรยานยนต์
ประเภทรถยนต์ |
ราคา |
เครื่องยนต์ไม่เกิน 75 ซีซี | 161.57 บาท |
เครื่องยนต์ 75-125 ซีซี | 323.14 บาท |
เครื่องยนต์ 125-150 ซีซี | 430.14 บาท |
เครื่องยนต์ 150 ซีซีขึ้นไป | 645.12 บาท |
ไม่ทำประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ได้ไหม? มีความผิดตามกฎหมายหรือเปล่า?
การทำประกัน พ.ร.บ. คือการทำประกันภัยภาคบังคับ โดยเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถทุกคนจะต้องทำกันเป็นปกติ ซึ่งการที่ไม่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และจะไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ ซึ่งส่งผลให้ป้ายทะเบียนขาดต่ออายุร่วมด้วย นอกจากนี้ การไม่ทำประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ยังมีโทษตามกฎหมายอีก ดังนี้
- ไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- เมื่อไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็ทำให้ต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้ การไม่ต่อภาษีรถยนต์ หากถูกจับจะเสียค่าปรับ 400-1,000 บาท และโดนปรับดอกเบี้ยเพิ่มเดือนละ 1% ในครั้งถัดไป และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 3 ปี ทะเบียนรถจะถูกระงับการใช้งานและโดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทอีกด้วย
- หากไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุ ประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- หากเจ้าของรถไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ และได้นำรถไปใช้จะถูกปรับตามข้อ 1 และ 2 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ล่วงหน้าได้ไหม?
พ.ร.บ รถยนต์สามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน
กรณี พ.ร.บ รถยนต์หมดอายุ จะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไร
การซื้อ พ.ร.บ รถยนต์ก่อนหมดอายุ
พ.ร.บ รถยนต์ไม่สามารถทำการซื้อ และให้ความคุ้มครองย้อนหลังได้ ให้ความคุ้มครองรถยนต์เป็นเวลา 1 ปี สามารถซื้อความคุ้มครองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน หากหมดอายุ และไม่ได้ทำการต่ออาจถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท
การซื้อ พ.ร.บ รถยนต์กรณีพรบหมดอายุนานแล้ว
พ.ร.บ รถยนต์ หรือประกันภาคบังคับเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับว่ารถยนต์ทุกคันต้องมี และไม่สามารถปล่อยให้พรบรถยนต์ขาดได้เลยแม้แต่วันเดียว และอาจถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท
แต่ถ้าหากขาดต่อพรบรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี ก็จะส่งผลให้ทะเบียนของคุณโดนระงับ และจำเป็นต้องไปจดทะเบียนรถใหม่ที่กรมขนส่งทางบก และต้องยื่นจ่ายภาษีรถย้อนหลังด้วยค่าปรับในอัตรา 1% ต่อปี จึงจะสามารถขับรถได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อ พ.ร.บ รถยนต์ ต้องใช้อะไรบ้าง
การต่อ พ.ร.บ รถยนต์ สามารถเข้าไปติดต่อกรมขนส่งทางบกของแต่ละพื้น หรือช่องทางอื่นๆ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ห้างสรรพสินค้า ธนาคารเพื่อการเกษตร จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และสามารถสมัครผ่านหน้านาย หรือตัวแทนประกันอย่าง SILKSPAN ได้เช่นกัน สามารถเตรียมเอกสารได้เลยดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนรถ หรือเล่มจริง
วิธีติดป้าย พ.ร.บ. รถยนต์
หลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่าป้าย พ.ร.บ. รถยนต์ต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถ แต่แท้จริงแล้วป้าย พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่จำเป็นต้องติดที่กระจกหน้ารถก็ได้ แต่ป้ายที่ติดกระจกหน้ารถเป็นป้ายภาษีรถยนต์ต่างหาก หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าป้ายวงกลม ที่ต้องติดกระจกหน้ารถเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก จะได้รับหลังจากที่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์และชำระภาษีรถประจำปีเสร็จเรียบร้อย
หากผู้ขับขี่ไม่ติดป้ายภาษีไว้ที่หน้ากระจกจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 11 ระบุไว้ว่า “เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้ติดที่ด้านในของกระจกกันลมด้านหน้ารถ โดยหันข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีออกด้านนอกรถ เว้นแต่รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม และรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ติดในที่ที่สามารถมองเห็นข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีได้ชัดเจน บทกำหนดโทษตาม มาตรา 60 อัตรา โทษปรับไม่ควรต่ำกว่า 200 บาท แต่ไม่เกิน 2,000 บาท”
ข้อแนะนำในการทำพรบรถยนต์และการทำประกันภัย
อย่างที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของรถควรใส่ใจและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประกันรถยนต์ในกรณีที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรือการคุ้มครองให้กับบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น เรื่องของประกัน พ.ร.บ. รถยนต์จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เจ้าของรถทุกคนจึงต้องรู้ถึงข้อแนะนำในการทำ พ.ร.บ. รถยนต์และการทำประกันภัย ดังนี้
- พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันต้องมี มีอายุ 1 ปี และต้องทำการต่อทุกปี ห้ามขาด
- ควรทำการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ก่อนหมดอายุ พ.ร.บ. รถยนต์ไม่ให้ความคุ้มครองย้อนหลัง ห้ามขาดแม้แต่วันเดียว
- พ.ร.บ. รถยนต์สามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน
- หากเลือกที่จะไม่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็จะทำให้ต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้เช่นกัน และถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย
- สำหรับการให้ความคุ้มครอง พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ให้ความคุ้มครองแม้ว่าจะเป็นในกรณีที่เป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด และให้ความคุ้มครอง ทั้งตัวคุณ ผู้โดยสาร และบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหาย
- แต่ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันรถยนต์ภาคบังคับให้ความคุ้มครองแค่เพียงส่วนหนึ่ง จึงขอแนะนำให้เลือกทำประกันภัยรถยนต์ ที่เป็นประกันภัยภาคสมัครใจ ที่จะสามารถให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมกว่าทั้งตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณี และรวมไปถึงรถยนต์ที่คุณขับขี่ก็จะให้ความคุ้มครองด้วยเช่นกัน
SILKSPAN จึงขอแนะนำให้ทำการสมัครประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเป็นการเพิ่มเติมความปลอดภัยให้แก่คุณ และรถยนต์ของคุณเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งต่อ
สรุปบทความ พ.ร.บ. รถยนต์
พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยภาคบังคับ เป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันต้องมี และไม่ได้ให้ความคุ้มครองย้อนหลัง จึงทำให้ต้องหมั่นตรวจเช็กวันหมดอายุของ พ.ร.บ. รถยนต์ เพราะ พ.ร.บ. รถยนต์ห้ามขาดต่อเลยแม้แต่วันเดียว และการขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็จะทำให้ไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อยากให้ทุกคนให้ความสนใจ และไม่ลืมต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เพื่อมอบความคุ้มครองได้ทันทีในทุกกรณี