ตรอ. คืออะไร รถกี่ปีต้องเข้าตรวจสภาพรถ
เชื่อว่าคนใช้รถทุกคนต้องคุ้นเคยกับป้าย ตรอ.กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะบริเวณใกล้กรมการขนส่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับตรวจสภาพรถประจำปี วันนี้เราจะมาบอกความสำคัญของ ตรอ. คืออะไร และนำรถไปตรวจสภาพรถกับ ตรอ. เป็นยังไง เพื่อให้คนใช้รถได้รู้จัก ตรอ. ให้มากขึ้น รวมไปถึงให้คนใช้รถใช้ถนนขับขี่อย่างปลอดภัยมากขึ้นด้วย
ตรอ. คืออะไร
“ตรอ. คือ สถานตรวจสภาพรถเอกชน” โดยเป็นสถานที่ของเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อใช้ตรวจสภาพรถ จะตรวจสภาพว่ามีความพร้อมในการใช้งานตามระเบียบข้อบังคับของทางกรมการขนส่งหรือไม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ที่มีรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องเสียเวลาไปที่กรมการขนส่ง ก็ตรวจสภาพรถพร้อมรับใบรับรองตรวจสภาพรถได้เลย แล้วเจ้าของรถก็นำใบนี้ไปต่อภาษีประจำปีโดยสามารถทำล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือนก่อนวันหมดอายุภาษีประจำปี
รถกี่ปีต้องเข้าตรวจสภาพรถ
พระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดเอาไว้ว่ารถที่จะนำมาขับขี่ได้ต้องมีสภาพที่แข็งแรง มั่นคง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และกำหนดให้รถที่เข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ตรวจเช็กสภาพก่อนต่อภาษีประจำปี
1.รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งาน 7 ปีขึ้นไป
2.รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งาน 7 ปี ขึ้นไป
3.รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุใช้งาน 7 ปี ขึ้นไป
4.รถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งาน 5 ปี ขึ้นไป
ตรวจสภาพรถ ใช้อะไรบ้าง
ในการตรวจสภาพรถต้องใช้รถและสมุดคู่มือทะเบียนรถไปแสดง เพื่อติดต่อกับสถานตรวจสภาพรถ ถ้าผลการตรวจสภาพปรากฏว่า รถอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่านการตรวจ สถานตรวจสภาพรถก็จะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งจะมีอายุ 3 เดือน ส่วนรถที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้ไม่ผ่านสภาพ เพื่อจะได้นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วนำมาตรวจใหม่ภายใน 15 วัน
ตรวจสภาพรถ ตรอ. ราคาเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ได้แก่ รถจักรยานยนต์คันละ 60 บาท รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท และรถยนต์น้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท สำหรับรถที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพและแก้ไขรถ เพื่อนำมาตรวจใหม่ภายใน 15 วัน จะเสียค่าตรวจในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่กำหนดไว้ หรือไปตรวจที่สถาน ตรวจสภาพรถแห่งอื่นก็จะเสียค่าบริการเต็มอัตรา
ตรวจสภาพรถ ตรวจอะไรบ้าง
1.ตรวจความถูกต้องของข้อมูลรถ ได้แก่ ป้ายทะเบียน ลักษณะรถ สี แบบ หมายเลขรถ ชนิดและหมายเลขเครื่องยนต์ และเชื้อเพลิง ว่าถูกต้องตามที่ระบุไว้ในเล่มประจำรถหรือไม่
2.การตรวจสภาพภายในและภายนอกรถ ได้แก่ ตัวถัง สี อุปกรณ์ทั้งภายในและภายนอกรถ เช่น เข็มขัด ที่นั่ง ระบบไฟฟ้า ระบบไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ ล้อยาง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่น ๆ เป็นต้น
3.การตรวจใต้ท้องรถ ได้แก่ ระบบเบรก ระบบรองรับน้ำหนัก ระบบเลี้ยว ระบบส่งกำลัง เครื่องยนต์ ระบบไอเสียและเชื้อเพลิง เป็นต้น
4.การตรวจประสิทธิภาพระบบเบรก เป็นการตรวจสภาพรถว่าระบบเบรกยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่
5.การตรวจสอบโคมไฟหน้ารถ วัดค่าความเบี่ยงเบนของแสง และความเข้มแสง ว่ามีค่าเฉลี่ยเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่
6.การตรวจวัดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ว่าออกมาเกินปริมาณที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ ส่วนรถเครื่องยนต์ดีเซลยังต้องตรวจวัดควันดำด้วย
7.การตรวจวัดระดับเสียง จะต้องดังไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ
ต่อภาษีรถที่ไหน
ปัจจุบันมีช่องทางการต่อภาษีรถประจำปีให้เลือกได้ตามสะดวก หากไม่สะดวกไปต่อภาษีรถด้วยตัวเอง ที่สำนักงานขนส่ง ในวันทำการตามปกติ สามารถเลือกจ่ายภาษีรถยนต์ประจำปีได้ที่ไปรษณีย์ไทยห้างสรรพสินค้า และช่องทางอื่นๆมากมาย โดยไม่ต้องเดินทางไปทำเรื่องที่สำนักงานขนส่งอีกต่อไป โดยการต่อภาษีต้องใช้เอกสารดังนี้
1.พ.ร.บ. รถยนต์
2.สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริงหรือสำเนา)
3.ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ (สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป)
4.ใบตรวจสภาพแก๊ส (ถ้ารถติดตั้งแก๊สและแจ้งลงเล่มแล้ว)
ซึ่งการต่อภาษีรถยนต์ในทุกๆปีนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพราะถ้าหากไม่มี พ.ร.บ. รถยนต์ ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้นั่นเอง โดย พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันจะต้องทำ ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น หากนำรถที่ไม่มี พ.ร.บ. มาวิ่งบนถนน ก็จะมีบทลงโทษและถูกปรับเงินไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้ การตรวจสภาพรถกับตรอ. ค่อนข้างละเอียด ดังนั้นหากรถของใครใกล้ถึงเวลาต่อภาษี และมีอายุครบตามที่กฎหมายระบุไว้ ก็รีบดำเนินการตรวจสภาพรถก่อน หากตรวจสภาพไม่ผ่านก็ยังพอมีเวลาไปซ่อมบำรุงรถได้อีก นอกจากนั้นควรจะมีประกันภัยรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด ก็จะมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับผู้เอาประกันด้วย [เปรียบเทียบประกันรถยนต์:www.silkspan.com] ตอนนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ครอบคลุมที่สุด