ในกรณีที่รถไฟไหม้ ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันรถยนต์หรือไม่
โจรปล้นบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้แค่ครั้งเดียว สำนวนไทยที่กล่าวถึงความน่ากลัวของปัญหาเพลิงไหม้ได้เป็นอย่างดี กลับกันถ้าสิ่งที่ถูกไฟไหม้ไม่ใช่บ้าน แต่เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร ? ด้วยข้อสงสัยในรูปแบบนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้บทความนี้ SILKSPAN ของเรา มาพร้อมกับประเด็นเกี่ยวกับ “รถไฟไหม้” ที่เกี่ยวข้องกับ “ประกันรถยนต์” มาดูกันเลยว่า เมื่อเกิดไฟไหม้ตัวรถ ประกันภัยรถยนต์ของคุณจะให้ความคุ้มครองมากแค่ไหน และ จะต้องทำประกันชั้นอะไร ถึงจะได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่ามากที่สุด
ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความคุ้มครองของประกันรถยนต์ เมื่อเกิดเหตุการณ์รถไฟไหม้
การทำประกันรถยนต์นอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังสามารถคาดหวังถึงความคุ้มครองในกรณีอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถได้อีกด้วย ถ้าถามว่าถ้าไฟไหม้แล้วจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ? คำตอบคือ “ได้รับความคุ้มครอง” แต่ ! เฉพาะประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 , ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 และ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ เท่านั้น โดยความเสียหายจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจาก เกิดการลุกไหม้จากภายในตัวรถเอง หรือ จากสาเหตุภายนอกอย่างเช่น ไฟไหม้บ้านแล้วลามมาไหม้รถ ก็จะให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขของประกันภัยที่คุณเลือกซื้อติดรถเอาไว้ ยกเว้นเฉพาะสถานการณ์สงครามเท่านั้น ที่คุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองในเงื่อนไขเกิดเพลิงไหม้
รถไฟไหม้เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
ก่อนอื่นต้องขอบอกเลยว่า “รถยนต์ไม่ได้ติดไฟกันง่ายขนาดนั้น” อาจเป็นเพราะสื่อบันเทิงต่าง ๆ ที่นำเสนอภาพที่ รถยนต์เมื่อชนกันแล้วเกิดระเบิด หรือ ถูกยิงถังน้ำมันแล้วระเบิด ตามความจริงแล้วรถยนต์ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ให้การติดไฟจากภายในตัวรถเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ ถ้าเป็นในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ ถึงโอกาสจะน้อยเพียงใด แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดไฟไหม้จากภายในรถเช่นเดียวกัน ในส่วนของสาเหตุก็สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้
- เกิดการรั่วไหลของระบบเชื้อเพลิง รวมถึงของเหลวอื่น ๆ ภายในรถ เช่น น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ เป็นต้น
- ไฟฟ้าลัดวงจรภายในตัวรถ จนอาจทำให้เกิดประกายไฟ ส่วนมากพบบริเวณแบตเตอรี่
- เครื่องยนต์มีความร้อนสูงเกินไป ส่งผลให้ของเหลวต่าง ๆ ภายในรถเกิดการติดไฟ รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ บางชิ้นอาจติดไฟขึ้นมาได้
- ในรถไฟฟ้าอาจพบกรณีที่เกิดไฟไหม้ระหว่างการชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเกิดจาก ไฟฟ้าลัดวงจร และ การเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่
การติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม พบบ่อยในกรณีของรถที่ใช้แก๊ส ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน และ การรั่วซึมของแก๊สที่ใช้
ความคุ้มครองที่จะได้รับจากประกันภัยรถยนต์ เมื่อเกิดเหตุการณ์รถไฟไหม้
แม้จะมีประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองในกรณีรถไฟไหม้ แต่อย่างที่รู้กันดีว่าปัญหานี้เมื่อเกิดขึ้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหญ่ มากกว่าแค่การเคลมประกันเฉี่ยวชนทั่ว ๆ ไป ซึ่งความคุ้มครองที่จะได้รับถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน โดยแบ่งตามความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ดังนี้
-
รถเสียหายในระดับที่ซ่อมแซมได้
เมื่อประเมินความเสียหายแล้วพบว่า ยังสามารถซ่อมแซมให้รถของคุณกลับมาใช้งานได้ดังเดิม กรณีนี้คุณสามารถเลือกได้ว่า จะรับการซ่อมแซมจากให้รถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งในระหว่างการซ่อมแซม จะได้รับรถยนต์มาใช้ทดแทนไปก่อน (ในกรณีประกันชั้น 1 เท่านั้น) หรือ จะเลือกรับเงินชดเชยจากทางบริษัทประกันรถยนต์ ก็ได้เช่นเดียวกัน
-
เสียหายจนไม่สามารถกลับมาใช้งานได้
หากประเมินแล้วว่า สภาพรถของคุณยากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ หรือ ค่าซ่อมแซมตัวรถนั้นสูงเกินกว่า 70% ของมูลค่ารถ กรณีนี้ระบุได้ว่า “เสียหายสิ้นเชิง” คุณจะได้รับความคุ้มครองเป็นเงินชดเชยเต็มจำนวน ที่ระบุเอาไว้ในส่วนของทุนประกัน โดยมีเงื่อนไขคือเป็นการยกซากรถ ให้กับบริษัทประกันรถยนต์ แต่ถ้าเก็บซากรถไว้กับตนเอง เงินชดเชยที่ได้ก็จะมีจำนวนลดน้อยลง
รถติดแก๊สเมื่อเกิดเหตุรถไฟไหม้ ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยรถยนต์หรือไม่ ?
แม้จะไม่ได้เป็นที่พูดถึงมาพอสมควรแล้ว สำหรับ “รถติดแก๊ส” ซึ่งเป็นการนำเอารถยนต์ ไปติดตั้งระบบที่จะจ่ายพลังงาน ด้วยแก๊ส LPG หรือ NGV ในอดีตเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีราคาเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าน้ำมันที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งรถติดแก๊สเองก็ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันรถยนต์ ในกรณีที่รถเกิดไฟไหม้ หากพิสูจน์ได้ว่า อุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งมีมาตรฐาน และ ผ่านการแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก รวมถึงแจ้งกับบริษัทประกันเรียบร้อยแล้ว
เอาตัวรอดอย่างไร ในสถานการณ์ที่รถไฟไหม้ระหว่างขับขี่ ?
ไฟไหม้เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่กำลังขับขี่ เมื่อเริ่มรู้ตัวแล้วว่า รถของเราอาจเกิดไฟไหม้ สิ่งแรกที่คุณจะสัมผัสได้ คือกลิ่นไหม้ที่ลอยมาจากแอร์รถ ไม่ต้องรอให้เห็นประกายไฟ หรือ ควันไฟ ก่อนอื่นให้ตั้งสติ นำรถเข้าจอดบริเวณไหล่ทาง ดับเครื่องยนต์ มองหาควันไฟ และ ต้นเพลิง แต่ ! ห้าม ! เปิดฝากระโปรงรถเป็นอันขาด ให้ใช้การแง้มฝากระโปรงขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น หากพบว่ามีเพลิงไหม้ กรณีที่ไม่มีถังดับเพลิง ให้รีบถอยออกห่างจากตัวรถ โทรแจ้งดับเพลิง และบริษัทประกันรถยนต์ในทันที
บทส่งท้าย
อย่างที่เรากล่าวถึงอยู่เสมอ ว่าทุกปัญหาที่เกิดกับตัวรถมักจะมีสัญญาณแจ้งล่วงหน้า ปัญหารถไฟไหม้ก็เช่นเดียวกัน สัญญาณเตือนที่คุณต้องระวังคือ เห็นร่องรอยของเหลวต่าง ๆ ของรถที่เกิดการรั่วซึมหยดบนพื้น หรือ สังเกตเห็นสัญญาณเตือนว่าเครื่องยนต์ร้อนเกินไป เพียงคุณสังเกตกับสัญญาณเตือนเหล่านี้ ก็สามารถลดโอกาสเกิดความเสียหายได้แล้ว และสิ่งที่ผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา ได้ในทุกสถานการณ์คือ “ประกันรถยนต์” ไม่ว่าจะเป็นรถสภาพใด การเลือกซื้อประกันภัยที่เหมาะสมติดรถเอาไว้เป็นสิ่งสำคัญเสมอ หากไม่รู้ว่าประกันแบบไหนคุ้มครองมากที่สุด หรือ ประกันแบบไหนเหมาะกับคุณ SILKSPAN พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง