โรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นแล้วห้ามทำใบขับขี่
การขับขี่รถยนต์บนท้องถนน นอกจากยานพาหนะที่ต้องคอยตรวจสอบสภาพให้พร้อมต่อการขับขี่เท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพผู้ขับขี่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างยิ่งต้องระวังเพราะอาจเกิดอาการกำเริบขณะขับขี่จนกลายเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับโรคประจำตัวที่ห้ามขับขี่เพื่อที่จะทราบก่อนไปทำใบขับขี่กัน
โรคประจำตัวมีผลต่อการขับขี่อย่างไร?
คำว่าโรคประจำตัวนั้นคือโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดได้แบบเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ป่วยต้องมีการพบแพทย์อยู่เสมอ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งร่วมด้วย ซึ่งบางโรคนั้นมีผลทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ลดลงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะโรคที่เมื่อเกิดอาการกำเริบแล้วไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการขับขี่ได้ ดังนั้นในการทำใบขับขี่รถยนต์จึงต้องแสดงผลการตรวจร่างกายด้วย
โรคประจำตัวที่กฎหมายระบุว่าห้ามขับรถ
สำหรับโรคประจำตัวที่มีข้อกำหนดไว้ว่าห้ามขับรถ และไม่สามารถสมัครทำใบขับขี่ทั้งแบบออฟไลน์หรือทำใบขับขี่ออนไลน์ได้มีทั้งหมด 9 โรคด้วยกัน คือ
1. โรคหัวใจ
ผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคหัวใจนั้นอาจมีอาการผิดปกติเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดันและต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ทำให้เกิดอาการของโรค เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก รวมถึงหมดสติจนไม่สามารถควบคุมรถได้
2. โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
โรคเบาหวานที่อยู่ในระยะเกินควบคุมจะไม่สามารถขับรถได้ เนื่องจากเมื่อมีอาการของโรคเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืด สายตาพร่ามัว และมองเห็นได้ไม่ชัด ซึ่งทำให้เสียการควบคุมจนเกิดอุบัติเหตุได้ แต่กรณีที่อยู่ในระยะที่ควบคุมได้ใช้ชีวิตได้ตามปกติก็สามารถทำใบขับขี่ได้
3. โรคเกี่ยวกับสายตา
ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา การมองเห็นที่พร่ามัว มองเห็นไม่ชัด หรือมองสีของสัญญาณไฟผิดพลาด ไม่แนะนำให้ทำใบขับขี่รถยนต์เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระหว่างขับขี่ ทำให้การตัดสินใจคลาดเคลื่อนและเกิดอันตรายได้
4. โรคข้ออักเสบหรือข้อเสื่อม
โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่ควรสมัครทำใบขับขี่ออนไลน์หรือออฟไลน์ เนื่องจากเป็นปัญหาที่จะทำให้รู้สึกเจ็บจนไม่สามารถเหยียบเบรกหรือคันเร่งได้ ซึ่งก็อาจเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงได้
5. โรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง คือตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะรู้สึกวิงเวียน อ่อนเพลีย หรือมีภาวะใจสั่น เป็นลมหน้ามืด และหากเกิดขึ้นขณะขับขี่ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
6. โรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท
การทำใบขับขี่ไม่เพียงแค่การทดสอบเรื่องกฎระเบียบในการขับขี่เท่านั้น แต่ยังมีการทดสอบเรื่องระบบประสาทและการตัดสินใจด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสมองและระบบประสาท ไม่สามารถขับขี่รถยนต์ได้ เพราะเมื่อมีการที่ต้องตัดสินใจหรือหลงลืม นอกจากจะเสี่ยงต่อการหลงทางแล้วยังเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
7. โรคลมชัก
หลายคนคงจะเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มาจากสาเหตุของโรคลมชัก ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ไม่ควรทำใบขับขี่รถยนต์เพราะกฎหมายห้ามขับขี่ โดยโรคนี้ทำให้เกิดอาการแขนขาชา เห็นภาพหลอน และมีอาการกระตุกต่างร่างกายจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
8. โรคพาร์กินสัน
โรคประจำตัวที่มีกฎหมายระบุว่าห้ามขับขี่และไม่สามารถสมัครทำใบขับขี่ออนไลน์ได้ เพราะโรคนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกับลมชัก ด้วยอาการที่กล้ามเนื้อกระตุก มือและขาสั่น ทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ไม่เป็นไปตามปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
9. โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด อาการของโรคนี้ยังทำให้แขนขาชา ปากเบี้ยว ทรงตัวลำบาก รวมถึงการมองเห็นที่เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นโรคที่ไม่เหมาะทำใบขับขี่เนื่องจากความเครียดบนท้องถนนอาจทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นได้
โรคประจำตัว เช็กให้ชัวร์ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
ทั้งหมดนี้ก็คือโรคประจำตัวที่มีผลต่อการขับขี่โดยตรง และเมื่อมีภาวการณ์กำเริบของโรคเกิดขึ้นยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่นอกจากจะมีความเสียหายต่อตัวเองแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นด้วย ดังนั้นแล้วก่อนตัดสินใจทำใบขับขี่ อย่าลืมตรวจสุขภาพร่างกายของตัวเอง เพื่อสำรวจดูว่ามีความพร้อมหรือมีความเสี่ยงต่อการขับขี่รถยนต์หรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่กำลังรับประทานยาเพื่อรักษาโรคอยู่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวดูก่อนว่ายาที่ทานมีผลต่อการง่วงซึม หรือมีผลลัพธ์กับร่างกายแบบไหนหรือไม่ เพื่อให้ขับขี่ปลอดภัยและมั่นใจได้ในทุกการเดินทาง