ทำไมเราถึงต้องเสียภาษี เกี่ยวอะไรกับสรรพากร
ถ้าให้กล่าวถึงหน่วยงานรัฐ ที่คนไทยวัยทำงานหวั่นเกรงมากที่สุด เชื่อว่า “กรมสรรพากร” น่าจะเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน เพราะหน่วยงานแห่งนี้ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ปัญหาของประเทศไทยคือองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษี ไม่ได้ถูกแพร่กระจายอย่างถูกต้องเท่าที่ควรมากนัก ทำให้ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ เกี่ยวกับการเสียภาษี เพราะฉะนั้นบทความนี้ SILKSPAN อยากจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจ ถึงความสำคัญของการเสียภาษี และ การทำงานของกรมสรรพากร ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย
รู้จักกับหน่วยงาน “กรมสรรพากร” มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการจ่ายภาษี
กรมสรรพากร คือหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษี และยังมีบทบาทในส่วนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องของภาษีอีกด้วย เช่น ตรวจสอบผู้ที่มีท่าทีจะปลอมแปลงข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือ ยื่นฟ้องผู้ที่ไม่ยอมยื่นเสียภาษี หลังจากเข้าข่ายในเกณฑ์ที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น แม้จะดูเป็นหน่วยงานที่น่าหวั่นเกรง แต่ถ้ามองในมุมมองทั่ว ๆ ไปแล้ว ภาษีเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาษี ไม่มีใครให้คำตอบคุณได้ดีไปกว่ากรมสรรพากรแน่นอน นั่นจึงทำให้หน้าที่ให้คำแนะนำด้านการจ่ายภาษี เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของกรมสรรพากรนั่นเอง
เหตุผลที่พลเมืองชาวไทยทุกคนต้องเสียภาษี
ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่จำเป็นต้องจ่ายภาษี ทุกประเทศบนโลกต่างก็มีกฎหมายในเรื่องนี้เหมือน ๆ กัน โดยภาษีแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ “ภาษีทางตรง” เป็นภาษีที่วัดจากรายได้ หากเป็นบุคคลทั่วไปก็จะเรียกว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นบริษัทก็จะเรียกว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกรูปแบบคือ “ภาษีทางอ้อม” ซึ่งจะถูกเรียกเก็บจากการซื้อสินค้า หรือ ใช้บริการต่าง ๆ เราน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Vat นั่นเอง ส่วนของเหตุผลที่พลเมืองทุกคนต้องจ่ายภาษี เราสามารถระบุสาเหตุสำคัญได้ดังต่อไปนี้
- เป็นหน้าที่ของพลเมือง คนไทยทุกคนจำเป็นจะต้องเสียภาษีเมื่อมีรายได้ตาม และ อายุตามเกณฑ์ที่กำหนด การไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
- ภาษีคืองบประมาณของประเทศ ภาษีที่เราเสียไปทุกบาททุกสตางค์จะถูกส่งตรงเข้าหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ซึ่งจะมีการจัดสรรเป็นงบประมาณในการดูแล และ พัฒนาประเทศของเรา
- สร้างความเท่าเทียมของสังคม ผู้ที่มีรายได้มากก็จะเสียภาษีมาก ซึ่งเงินในส่วนที่เสียจะถูกนำมาใช้เป็นสวัสดิการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และ ด้านอื่น ๆ
อายุเท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษี ไม่จ่ายภาษีมีโทษร้ายแรงไหม ?
เพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด เราจะขออธิบายในส่วนของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นภาษีที่คนไทยเมื่ออายุครบ 20 บริบูรณ์ และ มีรายได้ตลอดทั้งปี หลังลดหย่อนแล้วเกินกว่า 150,000 บาท จะต้องจ่าย โดยปัจจุบันจะมีการคิดแบบขั้นบันได ยิ่งรายได้เยอะภาษีที่จะต้องจ่ายก็จะเยอะตามไปด้วย ถึงแม้จะมีรายได้ไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ยังต้องยื่นภาษีในทุก ๆ ปีอยู่ดี และข้อเตือนเลยว่าการไม่ยอมเสียภาษี ถือเป็นโทษคดีอาญา มีตั้งแต่โทษปรับ เก็บภาษีย้อนหลัง และ จำคุก ซึ่งโทษหนักมาก เพราะฉะนั้นควรศึกษาเรื่องภาษีกันเสียตั้งแต่ตอนนี้
4 สิ่งที่ควรต้องทำ ถ้าไม่อยากเดือดร้อน จากการโดนสรรพากรเพ่งเล็ง
อย่างที่เรากล่าวถึงไปแล้ว ในหัวข้อเมื่อสักครู่ ว่าการละเลยไม่ยอมจ่ายภาษี เมื่อถึงเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภาษีนิติบุคคล ล้วนมีโทษที่หนักหน่วงรอคุณอยู่ หากไม่อยากให้สรรพากรเพ่งเล็ง เราขอแนะนำ 4 เคล็ดลับดี ๆ ที่จะทำให้คุณดำเนินชีวิตอย่างสบายใจ ดังต่อไปนี้
1. ยื่นภาษีเมื่อถึงเข้าเกณฑ์ที่กำหนด
ไม่ว่าเงินรายได้จะถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีหรือไม่ก็ตาม หากอายุถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องยื่นจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับสรรพากร ในห้วงเวลาที่กำหนดเอาไว้ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ไปจนถึง 31 มีนาคม เพราะนอกจากกรณีที่จะต้องเสียภาษีแล้ว ถ้ารายได้ไม่ถึงตามเกณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องเสีย หรือ อาจได้รับภาษีเงินคืนได้อีกด้วย
2. ชี้แจงรายละเอียดของรายได้ตามความเป็นจริง
ในการยื่นภาษีจะต้องระบุรายได้ที่เข้ามาตลอดทั้งปี ก่อนที่จะนำไปหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งการชี้แจงที่มาของรายได้จะต้องเป็นไปตามความจริง เช่น ถ้าเป็นพนักงานประจำที่มีเงินเดือนตลอดทั้งปี 200,000 บาท และ ทำอาชีพเสริมได้รายได้ตลอดทั้งปี 100,000 บาท ก็ต้องชี้แจงได้ว่ามีรายรับรวม 300,000 จากนั้นก็ชี้แจงว่าที่มาของเงินอยู่ในหมวดรายรับประเภทใด
3. หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่เกินความเป็นจริง
ถ้าเป็นรายได้ที่เกิดจากการลงทุนค้าขาย หรือ ดำเนินธุรกิจ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้หักกับรายได้ทั้งหมด เพื่อให้กลายเป็น “รายได้สุทธิ” ในส่วนนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ใช้ จะต้องเป็นรายจ่ายจริง ๆ และ ไม่ควรเป็นรายจ่ายที่เกินความจำเป็น เพราะถ้ากรมสรรพากรเกิดข้อสงสัย จะขอทำการตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลัง แล้วไม่สามารถชี้แจงได้ เกิดปัญหาแน่นอน
4. ใช้สิทธิ์การลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง
ทุก ๆ การยื่นภาษี มี “สิทธิลดหย่อน” ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนใช้ได้เหมือนกันทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ประกันสังคม , ประกันสุขภาพ , การลงทุนในกองทุนเลี้ยงชีพ , ดอกเบี้ยบ้าน และ ค่าลดหย่อนส่วนตัว เป็นต้น หากอยากจ่ายภาษีน้อยลง ควรมองหาสิทธิลดหย่อนที่เรากล่าวไป และควรทำความเข้าใจว่าการลดหย่อนใช้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะสิทธิลดหย่อนทุกประเภท มีเงื่อนไขระบุเอาไว้อย่างชัดเจน
บทส่งท้าย
เน้นย้ำอีกสักครั้งว่าการยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของพลเมืองชาวไทยทุก ๆ คน เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า “ภาษีและความตาย คือสองสิ่งที่มนุษย์หลีกหนีไม่ได้” เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากมีปัญหากับกรมสรรพากร การยื่นภาษีให้ถูกต้องในทุก ๆ ปี และ ชำระภาษีตามกำหนดเวลา จะทำให้คุณไม่ต้องเผชิญปัญหาที่สุดแสนจะยุ่งยากที่ตามมา เมื่อถึงวัยทำงานนอกจากการทำงานหาเงิน ลงทุน เก็บออม สิ่งที่ควรต้องทำคือ “วางแผนภาษี” หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย บทความต่อไปจะเนื้อหาน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามรับชมได้เลยครับ