ค่า Deductible ลดค่าเบี้ยเยอะไหม เลือกจ่ายเท่าไหร่ถึงคุ้มค่า?
เมื่อต้องการซื้อประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ หรือประกันอื่น ๆ หนึ่งในคำหรือข้อความที่พบหรือได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “Deductible” หรือ “ค่าความรับผิดชอบส่วนแรก” ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ผู้ซื้อประกันสามารถเลือกได้อย่างมีอิสระ แต่ก็มีข้อดีในเรื่องช่วยลดค่าเบี้ยประกันได้เช่นกัน
แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ค่า Deductible จะช่วยลดค่าเบี้ยได้หรือไม่และควรเลือกจ่าย Deductible เท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่า? บทความนี้จะช่วยคุณทำความเข้าใจและตัดสินใจได้อย่างมั่นใจในการเลือกจ่าย Deductible กัน
Deductible คืออะไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า Deductible กันก่อน ซึ่งความหมายในภาษาไทยแปลว่า ค่าความรับผิดชอบในส่วนแรก หมายถึงจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบจ่ายก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เหลือให้ตามทุนประกัน ตัวอย่างเช่น หาก Deductible อยู่ที่ 5,000 บาท และค่าเสียหายหรือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดอยู่ที่ 10,000 บาท กรณีนี้ ผู้ที่ทำประกันจะต้องจ่าย 5,000 บาทในส่วนแรก และส่วนที่อีกเหลือ 5,000 บาท บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ทั้งหมด
Deductible มีผลต่อค่าเบี้ยประกันอย่างไร?
การเลือก Deductible มีผลโดยตรงต่อค่าเบี้ยประกัน เพราะยิ่งผู้เอาประกันภัยเลือกจ่าย Deductible สูงขนาดไหน ค่าเบี้ยประกันจะยิ่งถูกปรับลดลงด้วย เช่น
- กรณีเลือก Deductible 0 บาท หรือไม่มีการจ่ายค่าความรับผิดชอบในส่วนแรก กรณีนี้ค่าเบี้ยประกันอาจอยู่ที่ 15,000 บาทต่อปี (ขึ้นอยู่กับความคุ้มครองและช่วงอายุ)
- กรณีที่เลือกจ่าย Deductible 5,000 บาท ค่าเบี้ยประกันอาจถูกปรับลดลงเหลือ 12,000 บาทต่อปี
- กรณีที่เลือกจ่าย Deductible 10,000 บาท ค่าเบี้ยประกันอาจลดเหลือเพียง 10,000 บาทต่อปี
จากตัวอย่างนี้ หากเลือกความเสียหายส่วนแรกหรือความรับผิดชอบส่วนแรกที่ 10,000 บาท ก็สามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันได้ถึง 5,000 บาทต่อปี ซึ่งการที่ผู้เอาประกันภัยเลือกจ่ายค่ารับผิดชอบส่วนแรก คือ วิธีที่ช่วยให้เซฟค่าใช้จ่ายในส่วนเบี้ยประกันได้ และหากไม่มีการเคลมประกันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ่าย Deductible ถือว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและน่าสนใจอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
Deductible แปลว่าอะไรในมุมมองของผู้ใช้?
ในมุมมองของผู้ทำประกัน Deductible หรือค่าความรับผิดชอบส่วนแรก คือความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัยที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายบางส่วนหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเคลมประกัน ซึ่งการจ่ายความรับผิดชอบส่วนแรกก็จะจ่ายตามที่มีตกลงกันไว้ ซึ่งในมุมของผู้เอาประกันภัยเอง แม้ว่าจะเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ค่าเบี้ยประกันถูกลงก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมเงินสำรองไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยด้วยเหมือนกัน
Deductible คุ้มค่าหรือไม่?
การเลือก Deductible คุ้มค่าหรือไม่นั้นอาจจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านด้วยกัน เพราะอย่างที่ได้บอกไปตอนต้นแล้วว่าค่าความรับผิดชอบส่วนแรกนั้นจะต้องจ่ายก็ต่อเมื่อมีการเคลมประกันเกิดขึ้น ส่วนคุ้มหรือไม่นั้นอาจพิจารณาได้จาก 3 ข้อต่อไปนี้
1. ความถี่ในการเคลม
หากผู้เอาประกันภัยคาดการณ์ว่าจะไม่เคลมบ่อยแน่นอน เช่น เป็นคนขับรถระมัดระวังและเคารพกฎจราจรอยู่เสมอ หรือมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว การเลือกจ่ายค่า Deductible สูงอาจมีความคุ้มค่าได้มากกว่า เพราะจะช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันได้ค่อนข้างมาก
2. ความสามารถในการรับความเสี่ยง
กรณีที่มีการวางแผนเกี่ยวกับการเก็บเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การเลือก Deductible สูงก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นเดียวกัน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องเคลมประกันก็ยังมีค่าจ่ายสำหรับความรับผิดชอบส่วนแรกเอาไว้แล้ว แต่หากไม่ได้วางแผนสำหรับเงินฉุกเฉินหรือไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ การเลือก Deductible ต่ำหรือไม่เลือกจ่ายความผิดชอบส่วนแรกอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า
3. เปรียบเทียบค่าเบี้ยประกัน
ลองคำนวณดูว่าค่าเบี้ยที่ถูกปรับลดลงเมื่อเลือก Deductible สูงขึ้นนั้นคุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบในส่วนแรกหรือไม่ หากส่วนลดค่าเบี้ยประกันอยู่ในระดับที่คุ้มค่าและไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงต่อการเคลมประกันบ่อยๆ การเลือก Deductible สูงก็เป็นตัวเลือกคุ้มค่าและตอบโจทย์แน่นอน
วิธีเลือก Deductible ให้เหมาะสม
เพื่อให้เลือกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ต่อไปนี้คือวิธีเลือก Deductible ที่นำไปใช้ในการเลือกได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุดได้
1. วิเคราะห์งบประมาณ
ตรวจสอบงบประมาณที่มีสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อกรณีเคลมประกันสำหรับความผิดชอบส่วนแรก ซึ่งถ้ามีงบประมาณในส่วนนี้พร้อมก็สามารถเลือก Deductible ที่สูงขึ้นได้
2. เปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทประกัน
ลองเปรียบเทียบค่าเบี้ยประกันและ Deductible จากหลายบริษัทประกัน เพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสมและมีความคุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงเรื่องของความคุ้มครองที่เพิ่มเติมในแต่ละบริษัท ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายค่าเบี้ยประกันได้อย่างสบายใจมากที่สุด
3. ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง
สำคัญที่สุดคือประเมินจากไลฟ์สไตล์ของตัวเองด้วย ว่ามีความเสี่ยงต่ำหรือสูงในเรื่องนี้หรือไม่ เช่น ขับรถทางไกลเป็นประจำหรือไม่ และมีสุขภาพร่างกายโดยรวมอย่างไร หากมีความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยและอุบัติเหตุสูง การเลือก Deductible ต่ำหรือเลือกจ่ายค่าเบี้ยประกันเต็มจำนวนจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่หากมีการสำรองเงินในส่วนนี้และเป็นผู้ที่มีประกันอื่นหรือสวัสดิการอื่นๆ อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ก็ได้ความคุ้มค่ามากขึ้นไปได้อีก
ค่า Deductible สูงสุดเท่าไหร่?
ปกติแล้ว Deductible มีช่วงราคาหลายระดับและมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันและบริษัทประกันภัย เนื่องจากความคุ้มครองของทั้งประกันสุขภาพและประกันรถยนต์นั้นมีความแตกต่างกัน การคิดค่า Deduct จึงมีความแตกต่างกันด้วย เพื่อความชัวร์แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจ
การเลือก Deductible มีผลต่อค่าเบี้ยประกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะหากเลือก Deductible สูง ค่าเบี้ยประกันจะลดลง แต่ผู้ทำประกันต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าความเสี่ยงและความสามารถในการจ่ายค่า Deductible ของตัวเองเหมาะสมกับการลดค่าเบี้ยประกันหรือไม่ ดังนั้น การเลือก Deductible ที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันได้ในระยะยาวแน่นอน