เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ เป็นเพราะอะไร?
หนึ่งในความโชคร้ายของคนมีรถที่ไม่มีใครอยากให้เกิดคือ เครื่องยนต์ดับกลางทางโดยไม่มีสาเหตุ แต่ความโชคร้ายนี้ป้องกันได้ ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเครื่องดับกลางอากาศกันเลย
1. เครื่องยนต์ร้อนเกินไป
ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะมีฟังก์ชั่นดับเครื่องอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เสียหาย คุณสามารถลองเช็กไฟรูปเครื่องยนต์ที่หน้าปัดเพื่อให้แน่ใจก็ได้
2. ขั้วลบหลวม
เมื่อขั้วลบแบตหลวมอาจจะมีไฟเตือนที่หน้าปัดขึ้นหลายอันด้วย นอกจากต้องเช็กขั้วลบแล้วยังต้องเช็กขั้วบวกแบต ขั้วECU และขั้วอื่นๆ ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง
3. หัวเทียน และคอยล์จุดระเบิดเสื่อม
หากหัวเทียนเก่า เสื่อม ขาดใน เขี้ยวห่าง ก็สามารถทำให้เครื่องดับได้
4. หัวฉีดมีปัญหา
หากหัวฉีดมีปัญหา รถจะมีอาการกระตุกเป็นสัญญาณเตือน ก่อนที่รถจะดับ อาการหัวฉีดมีปัญหา มีทั้งอาการหัวฉีกมีคราบสกปรกเข้าไปอุดในหัวฉีด จะทำให้หัวฉีดไม่สามารถจ่ายเชื้อเพลิงได้ อีกอาการคือหัวฉีดแตก รั่ว ก็จะทำให้น้ำมันท่วมห้องเผาไหม้ ทำให้กำลังเครื่องยนต์ตก และดับในที่สุด
5. SCV วาล์วเสีย (ในเครื่องยนต์ดีเซล)
หากรถมีอาการสั่น เร่งไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะวาล์ว SCV เสีย ซึ่งสาเหตุของวาล์ว SCV เสียเกิดจากน้ำมันเครื่องสกปรก และการไม่เปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือใช้กรองเชื้อเพลิงที่ไม่ได้มาตรฐาน
6. วาล์วยัน
สำหรับรถที่ติดแก๊ส LPG อาจเป็นเพราะวาล์วยัน ทำให้กำลังเครื่องยนต์ตก และดับ
7. ปั้มน้ำมันเชื้อเพลิง และกรองน้ำมันเชื้อเพลิงเสื่อม
ปั้มน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเปลี่ยนทุก 5 ปี ส่วนกรองน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเปลี่ยนทุก 20,000 – 25,000 กิโล หรือเปลี่ยนทุกปี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการอุดตัน ทำให้เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น สตาร์ทติดยาก จนทำให้เครื่องยนต์ดับ
8. ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก
เราควรล้างลิ้นปีกผีเสื้อทุกๆ 50,000 กิโลเมตร หากลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก ก็ส่งผลให้รอบเดินเบาต่ำ จนทำให้เครื่องยนต์ดับได้เช่นกัน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากรถของคุณเกิดดับกลางอากาศขึ้นมาจริงๆ ขอให้ตั้งสติ เปิดไฟฉุกเฉิน ชะลอ แล้วค่อยๆ เอารถเข้าข้างทาง ก่อนติดต่อศูนย์ หรืออู่ใกล้เคียง อย่าตกใจจนเผลอเหยียบเบรกกะทันหัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้