เกาะสีที่อยู่กลางถนนคืออะไร?
เกาะสีที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ไม่ได้หมายถึงเกาะสีชัง สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี แต่เป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นถนนที่เราเห็นกันเกือบทุกวันโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือ เกาะสี เป็นเกาะกลางชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นทึบสีขาว หรือสีเหลือง ตีทแยงเป็นพื้นที่ตรงกลางถนน เสมือนให้เป็นเกาะกลางถนน หรืออาจจะอยู่บริเวณไหล่ทางก็ได้ หลายคนอาจใช้งานเกาะสีอย่างผิดวิธีมาโดยก็เป็นได้ ไม่ว่าจะใช้ในการจอดชะลอรถ ใช้เพื่อกลับรถ หรืออาจจะขับผ่านโดยที่มองข้ามไปเหมือนเป็นเลนรถยนต์ที่สามารถวิ่งได้ตามปกติ ไม่นึกว่าเกาะสีจัดเกาะกลางชนิดหนึ่ง ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และผิดกฎหมาย
เกาะสีอยู่ที่ไหนบ้าง?
เกาะกลางแบบเกาะสีมักจะถูกใช้ในถนนที่ไม่ใช่ถนนเส้นหลัก และอาจเป็นเส้นทางที่ไม่ได้มีปริมาณจราจรที่สูงมาก หรืออาจถูกใช้ในเขตเมือง และปริมณฑลในบางแห่งโดยมีเกณฑ์ดังนี้
- มีรถรอเลี้ยวขวาเยอะจนทำให้ทางตรงรถติด
- มีรถจำนวนเยอะทำให้คนข้ามถนนยาก
- ช่องจราจรมีขนาดกว้างมาก
- เขตทางมีจำกัด
หน้าที่ของเกาะสี
เกาะสีทำหน้าหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ที่คอยป้องกันให้ไม่เกิดอุบัติเหตุ ทำหน้าที่เหมือนเกาะกลางที่เป็นแบบกำแพงกั้น และแบบพลาสติกสีส้มแดงที่อาจจะพบเห็นได้อย่างทั่วไป ซึ่งแปลว่าถ้าพื้นถนนที่ไหนที่มีสัญลักษณ์ของเกาะสีอยู่บนพื้นจะไม่สามารถขับผ่านได้
เกาะสีมีหน้าที่อยู่ 4 อย่างด้วยกัน นั่นคือ
- เป็นที่แยกการจราจรที่สวนกันหรือวิ่งทิศทางเดียวกัน
- ควบคุมทิศทางจราจรสำหรับเลี้ยว
- เป็นที่พักสำหรับคนข้ามถนน
- ช่วยป้องกันการชนเกาะกลางหรืออุปสรรคในการเดินรถ
ข้อดี-ข้อเสียของเกาะสี
ข้อดี
- ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง
- เข้าออกสองทิศทางได้ เพราะไม่มีเกาะกลาง
- ใช้พื้นที่ขยายน้อยกว่าแบบอื่นๆ
ข้อเสีย
- ไม่สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุชนกันแบบข้ามเลนได้ เนื่องจากเกาะสีเป็นเพียงแบบสีที่ตีเส้นขึ้น
- เกิดการเลี้ยวเข้า และออกได้ง่ายจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และทำให้รถติด
- คนข้ามถนนข้ามได้ยาก ไม่มีเกาะกลางในการหลบรอข้าม
- ต้องคอยดูแลเติมสีให้ไม่จางตลอด
- มีปัญหาต่อการกำหนดตำแหน่งเสาโครงสารต่างๆ ที่อยู่ตรงกลางถนน เช่น เสาสะพานลอย เสาทางยกระดับ เสาไฟฟ้า เป็นต้น
- ไม่เหมาะกับการใช้งานกับถนนสายหลัก ถนนที่มีรถใช้งานเป็นจำนวนมาก มีการใช้ความเร็วสูง หรือพื้นที่สองข้างทางเป็นพื้นที่ชุมชน
ตามกฎจราจร พื้นที่ “เกาะสี” นี้มีข้อห้ามดังต่อไปนี้
- มาตรา 46 : ห้ามใช้เป็นพื้นที่แซง
- มาตรา 53 : ห้ามกลับรถ
- มาตรา 55 : ห้ามหยุดรถ
- มาตรา 57 : ห้ามจอดรถ
- มาตรา 119 : ห้ามขับเข้าไปบริเวณนี้ นอกจากกรณีจำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
หากฝ่าฝืนกฎหมาย และใช้งาน “เกาะสี” อย่างถูกต้องจะโดนโทษอะไรบ้าง?
มาตรา 148
หากไม่ปฏิบัติตามมาตรา 55, มาตรา57 และมาตรา119 จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
มาตรา 157
หากไม่ปฏิบัติตามมาตรา 46 และมาตรา 53 จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท
เกิดอุบัติเหตุที่บริเวณ “เกาะสี” ประกันให้ความคุ้มครองหรือไม่
หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าบริเวณที่เป็นเกาะสีสามารถใช้งานขับขี่ได้ตามปกติ ซึ่งในความจริงแล้วบริเวณของเกาะสีถือว่าเป็นเกาะกลางชนิดหนึ่ง ซึ่งแปลว่าไม่สามารถขับขี่บนบริเวณเกาะสีได้ ถึงแม้ว่าเกาะสีจะเป็นบริเวณที่ง่ายต่อการเลี้ยวรถ หรือกลับรถ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ควรทำ และควรกลับรถ หรือเลี้ยวในบริเวณที่สัญลักษณ์ หรือป้ายกำหนดไว้จะถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย และปลอดภัยที่สุด
แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังพื้นที่เกาะสีในการขับขี่ โดนเฉพาะในการใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการเร่งความเร็ว และทำการแซงรถคันด้านหน้าขึ้นไป และด้วยเหตุการณ์แบบนี้เองก็อาจเป็นเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเบรคกระทันหันทำให้รถยนต์เสียหลัก หรือจะเป็นการชนประสานงากับรถที่อยู่เลนตรงข้าม ยิ่งเป็นการขับมาด้วยความเร็วก็ยิ่งจะสร้างความเสียหายขึ้นมากขึ้นไปด้วย ถ้าหากคุณทำประกันภัยรถยนต์ให้กับรถยนต์ที่เกิดเหตุ ประกันก็ยังให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์แต่ละชั้น หากทำประกันชั้น1 เป็นการชนแบบรถชนรถ ประกันก็ยังให้ความคุ้มครองทั้งฝั่งเรา และคู่กรณี แต่ถ้าเป็นประกันรถยนตชั้น 2+ และ 3+ ก็จะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคู่กรณีเท่านั้น ถ้าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ ตัวเจ้าของรถเองจะต้องเป็นฝ่ายจัดการค่าเสียหาย และค่าซ่อมที่เกิดขึ้น
เนื่องจากผู้ใช้รถใช้ถนนหลายๆ คนอาจคิดว่าเกาะสีเป็นแค่เส้นแบ่งการจราจร จึงยังคงขับรถเข้าไป หรือข้ามเกาะสีนี้อยู่เรื่อยๆ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุในบริเวณเกาะสีประกันภาคสมัครใจที่คุณมียังคงคุ้มครองคุณ แต่คุณอาจจะยังคงโดนปรับฐานที่คุณเป็นฝ่ายละเมิดข้อห้ามตามกฏจราจรอยู่ดี ดังนั้นอย่าลืมทำตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยของคุณ รถ และเงินในกระเป๋า