โรคกรดไหลย้อนรักษาหายขาดได้หรือไม่?
โรคกรดไหลย้อน หรือชื่อเต็มๆ ว่า โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร (Gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) เป็นอาการที่สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ส่งผลเสียตามมาในระยะยาว
กรดไหลย้อนเกิดจากอะไร
กรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนเพื่อลดและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวกัน
- พฤติกรรมต่างๆ จากการดำเนินชีวิต เช่น ทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที การทานอาหารมันๆ การทานเยอะเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร
- หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร
- ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้ความดันของหลอดอาหารต่ำลง หรือเกิดบ่อยกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวกับพันธุกรรม
- มีภาวะเครียด ซึ่งส่งผลให้หลอดอาหารมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารจึงมีความไวต่อกรด
- มีปัจจัยอื่นร่วม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การดื่มน้ำอัดลม การตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการเบื้องต้น
ลองสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้ดู เช็กว่าตัวของคุณนั้นมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ถ้าหากมีอาการที่น่าจะเป็นโรคกรดไหลย้อนควรรีบปรับพฤติกรรมและทำการรักษา
- เรอเปรี้ยว
- แสบลิ้นเรื้อรัง
- เสียงแหบเรื้อรัง เสียงเปลี่ยน
- กลืนลำบาก เหมือนมีอะไรติดคอ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บหน้าอก แสบร้อนกลางอก
- ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
โรคกรดไหลย้อนรักษาหายขาดได้หรือไม่?
โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคเรื้อรังระยะยาว สามารถรักษาให้อาการให้คงที่ได้ด้วยการทานยาและปรับพฤติกรรม แต่ก็สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้หายขาดจากโรคกรดไหลย้อนนี้ได้
1.การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
เป็นการรักษาในขั้นตอนเบื้องต้นที่สามารถทำได้ทุกคน และสามารถเป็นแนวทางให้คนที่ยังไม่เป็นโรคกรดไหลย้อนสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดโรคได้
- การทานอาหารเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด มัน หรือย่อยยาก ทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ และหลังทานอาหารเสร็จไม่ควรนอนในทันทีควรเว้นช่วงให้กระเพาะทำการย่อยอาหารอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมง
- คลายเครียดพยายามลดความเครียด และหากิจกรรมคลายเครียดมาทำ เพื่อไม่ให้เกิดอาการเครียดสะสมมากเกินไป
- งดสูบบุหรี่การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน และมีโอกาสทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจทั้งผู้สูบและผู้ที่อยู่โดยรอบข้าง
- ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสการเป็นโรคกรดไหลย้อนเนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ และควรพักผ่อนอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ควรจัดท่านอนให้ศีรษะสูงขึ้นจากพื้นราบ ป้องกันกรดไหลย้อนในท่านอนราบ
- ทานยาอย่างสม่ำเสมอสำหรับผู้ที่ต้องทานยาเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อน ควรทานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามาทานเอง เนื่องจากอาจเกิดการทานยาที่ผิดและอาจมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น
2.การรักษาด้วยการใช้ยา
ยากลุ่มที่ 1 – จะเป็นการรักษาด้วยการทานยาลดกรด (Antacids) หรือยาลดการผลิตกรด (H2-BLOCKERS) เป็นยาที่ช่วยทำให้กรดไม่ไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร สามารถใช้กับเด็กได้เนื่องจากตัวยาเป็นน้ำ
ยากลุ่มที่ 2 – เป็นการรักษาด้วยยาที่แรงขึ้นมาอีกระดับซึ่งจะเป็นยาในกลุ่ม Proton – Pump Inhibitors (PPIs) ที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียง แต่มีเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก คลื่นไส้ และปวดศีรษะได้
ยากลุ่มที่ 3 – เป็นการรักษาเพื่อช่วยทำให้หูรูดกระเพาะอาหารปิดได้สนิทขึ้นด้วยยาในกลุ่ม Prokinetic Agents และมักใช้ร่วมกับยาในกลุ่มที่ 1 หรือยาลดกรด
3.การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในปัจจุบันการรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้องแล้ว และถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการผ่าตัดผ่าตัดนำกระเพาะส่วนบนไปรัดรอบหลอดอาหารเพื่อแก้ปัญหาหูรูดที่จะทำให้กรดไม่ไหลกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เรียกการผ่าตัดนี้ว่า Nissen Fundoplication ควรทำด้วยแพทย์เฉพาะทางที่ชำนาญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น การเรอไม่ออก แน่นท้องตลอดเวลา เนื่องจากรัดแน่นเกินไป
หลังจากทำความเข้าใจกับโรคกรดไหลย้อนแล้วก็ควรรักษาร่างกายให้ดี และเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเรา หากมีอาการเพียงเบื้องต้นอาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราก่อน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นก็ควรขอคำปรึกษาวิธีการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาในขั้นต่อต่อไป