สายปาร์ตี้ต้องอ่าน ! กฎหมายเมาแล้วขับปี 2568 พร้อมบทลงโทษที่ควรต้องรู้
ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ในช่วงเทศกาล หรือวันพิเศษต่างๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีแผนที่จะฉลองแบบจัดเต็มรอเอาไว้แล้ว แต่ ! ขอเบรกเรื่องของการฉลองเอาไว้สักพัก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเมาแล้วขับใหม่ ใครที่เป็นสายปาร์ตี้ ใครที่ชื่นชอบการสังสรรค์ แล้วต้องขับรถกลับด้วยตนเอง ขอให้หยุดอ่านบทความนี้ให้จบเสียก่อน มาดูกันเลยว่ากฎหมายเมาแล้วขับฉบับใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมกันบ้าง
กฎหมายเมาแล้วขับฉบับใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง
สำหรับกฎหมายเมาแล้วขับฉบับล่าสุดนั้น บังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงวันที่ 20 กันยายน 2567 โดยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับเหล่านักดื่มตัวยงกันเลยก็ว่าได้ เพราะข้อกฎหมายนั้นเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม บทลงโทษก็หนักขึ้น แถมยังลดช่องโหว่ของกฎหมายข้อเดิม เพื่อดักทางสำหรับนักดื่มที่เมาแล้วเกิดอาการ “หัวหมอ” ในส่วนของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราได้สรุปเอาไว้ให้แล้วทั้งหมด 3 หัวข้อด้วยกัน ดังนี้
-
เกณฑ์ของปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย
ถ้าอ้างอิงจากกฎจราจรเกี่ยวกับการเมาแล้วขับเดิม เกณฑ์ของการวัดแอลกอฮอล์ในร่างกายจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจวัดแล้วเท่ากับหรือมากกว่าก็จะถือว่าเป็นผู้ที่ “เมาแล้วขับ” ในทันที แต่ในกฎหมายใหม่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์วัดเพิ่มเติมเข้าไป สำหรับผู้ที่ยังอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ , ยังใช้ใบขับขี่แบบชั่วคราว หรือ ยังไม่มีใบขับขี่ เกณฑ์ของการจะเป็นผู้เมาแล้วขับ เพียงมีแอลกอฮอล์ในร่างกาย 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว เพราะฉะนั้นนักดื่มรุ่นใหม่ระวังไว้ให้ดี
-
เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากกว่าเดิม
ในส่วนของบทลงโทษเมาแล้วขับ ตามกฎหมายฉบับปี 2567 จะมีการปรับเพิ่มโทษให้รุนแรงมากกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้ที่ “กระทำผิดซ้ำซาก” เพราะผู้ที่กระทำผิดครั้งแรก กฎหมายยังเอาผิดเหมือนเดิม คือการปรับเริ่มต้นที่ 5,000 บาท ไปจนถึง 20,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือ การกระทำผิดซ้ำในความผิดเมาแล้วขับ ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จากการทำผิดครั้งก่อน จากเดิมที่โทษปรับจะอยู่ที่เริ่มต้น 10,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท จะกลายเป็น ปรับเริ่มต้นถึง 50,000 บาท !! พร้อมจำคุก 2 ปี
-
เพิ่มข้อกำหนดสำหรับนักดื่มหัวหมอไม่ยอมเป่าวัดแอลกอฮอล์
เคยมีความเชื่ออันบิดเบี้ยว ในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการปาร์ตี้ แต่ไม่มีความรับผิดชอบ ด้วยเรื่องของการ “ปฏิเสธไม่เป่า” เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจากการเมาแล้วขับ จนต้องใช้วิธีการอื่นเพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายแทน ซึ่งเสียเวลาต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก ในกฎหมายเมาแล้วขับล่าสุดได้มีการกำหนดโทษเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อคุณปฏิเสธที่จะเป่าวัดแอลกอฮอล์ เท่ากับว่าคุณมีความผิดในฐานเมาแล้วขับทันที แถมยังมีโทษปรับเพิ่มเข้าไปอีก 1,000 บาท โทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน
เมาแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุประกันรับผิดชอบไหม ? มีโทษทางกฎหมายอย่างไร
ส่วนที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เป็นโทษเมาแล้วขับในกรณีที่ถูกตรวจวัดได้ โดยที่ยังไม่ได้ประสบอุบัติเหตุเท่านั้น ถ้าเป็นในกรณีที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ โทษของการเมาแล้วขับก็จะรุนแรงมากขึ้นไปอีก
- ทำให้ผู้อื่นเกิดอาการบาดเจ็บ จำคุก 1 ถึง 5 ปี ปรับเริ่มต้นที่ 20,000 ถึง 100,000 บาท พักใช้ใบขับขี่ทันที 1 ปี หรืออาจถูกเพิกถอนใบขับขี่
- ทำให้ผู้อื่นเกิดอาการบาดเจ็บสาหัส จำคุก 2 ถึง 6 ปี ปรับเริ่มต้น 40,000 ถึง 120,000 บาท พักใช้ใบขับขี่ทันที 1 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่ หากเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก
- ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต จำคุก 3 ถึง 10 ปี ปรับเริ่มต้น 60,000 ถึง 200,000 บาท พร้อมถูกเพิกถอนใบขับขี่ทันที
แน่นอนว่าประกันภัยรถยนต์ ไม่ให้ความคุ้มครองในส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าคุณจะเสียเบี้ยประกันต่อปี แพงเท่าไหร่ก็ตาม มีเพียงความคุ้มครองจาก พรบ. เพียงเท่านั้น
สถิติเมาแล้วขับในช่วง “เจ็ดวันอันตราย” เตือนใจช่วงวันหยุดเทศกาล
สำหรับช่วงวันหยุดปีใหม่ หรือวันหยุดสงกรานต์ ก็ต่างเป็นช่วงเวลาที่หลายต่อหลายคนต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอย เพราะเป็นช่วงที่จะได้หยุดพักผ่อนเสียที ซึ่งช่วงวันหยุดปีใหม่มีปัญหาหนึ่งที่น่ากังวล นั่นก็คือเรื่องของการเมาแล้วขับ เนื่องจากช่วง เจ็ดวันอันตรายของปีใหม่ 2567 ของปีที่แล้ว มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้เกือบ 8,000 คดี และจากอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง มีสาเหตุมาจากการเมาสุราถึง 23.16% หากคุณไม่อยากให้ช่วงเวลาแห่งความสุข ในวันหยุดปีใหม่ 2568 หรือวันหยุดในช่วงเทศกาลอื่นๆ กลายเป็นการเที่ยวครั้งสุดท้ายของคุณ ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า “เมาไม่ขับ”
บทส่งท้าย
สุดท้ายแล้วเราไม่ควรจะมาโฟกัสในเรื่องที่ว่า เมาแล้วขับปรับเท่าไหร่ ? มีโทษอะไรบ้าง ? แต่เราควรจะโฟกัสเรื่องที่ว่า เราจะกลับถึงบ้านไหม ? เราจะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเปล่า ? เรื่องของการเมาแล้วขับ เป็นความผิดที่คนไทยส่วนมาก “รู้ทั้งรู้” แต่ก็ยังมีผู้ที่ละเลย ฝ่าฝืน จนทำให้เกิดความสูญเสียอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นช่วงวันหยุดไหนๆ หรือ การดื่มสังสรรค์ครั้งไหน ๆ แค่ “เมาไม่ขับ” เพียงเท่านี้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องโทษของกฎหมายเมาไม่ขับอีกต่อไปแล้ว
ส่วนท่านที่ประกันภัยรถยนต์กำลังจะหมด SILKSPAN มาพร้อมบริการ “ซื้อประกันภัยรถยนต์ล่วงหน้า” พร้อมส่วนลดสุดพิเศษ จ่ายเบี้ยประกันถูกลงกว่าเดิมถึง 30% และยังมีสิทธิพิเศษอีกมากมายที่จะได้รับ เพียงกรอกข้อมูลด้านล่างของบทความนี้เท่านั้น