
แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร เราควรรับมืออย่างไรให้ปลอดภัย?

แผ่นดินไหว ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด หลากหลายคนอาจเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาในเมื่อไม่นานมานี้ การเข้าใจสาเหตุว่าแผ่นดินไหวเกิดจากอะไร และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร
หลายคนยังมีข้อสงสัยว่าแผ่นดินไหวเกิดจากอะไร? แผ่นดินไหว จัดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน เป็นการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ในแผ่นโลกเพื่อเป็นการปรับสมดุลของเปลือกโลก แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก หรือที่เรียกว่า Tectonic Earthquake, Tectonic movement เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลก Tectonic Plates มีการเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ เมื่อแรงเค้นที่เกิดขึ้นตามรอยเลื่อนภายในเปลือกโลกถูกปลดปล่อยอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหว ซึ่งในบางรอยเลื่อนอาจมีเคลื่อนไหว 1 cm/ปี หรือในบางรอยเลื่อนอาจมีการเคลื่อนไหว 10cm/ปีได้เช่นกัน
การระเบิดของภูเขาไฟ
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือที่เรียกว่า Volcanic Eruption เป็นภัยธรรมชาติที่จะเกิดจากการเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวใต้ภูเขาไฟที่ใกล้ระเบิด ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดันภายในโลก
กิจกรรมของมนุษย์
แผ่นดินไหวไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะจากภัยธรรมชาติเท่านั้น แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้จากกิจกรรม หรือการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ได้เช่นกัน เกิดขึ้นได้จากหลากหลายเหตุผล เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และการทำเหมืองแร่ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดัน และโครงสร้างภายในเปลือกโลก
การวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว
การวัดแรงแผ่นดินไหวสามารถแบ่งออกเป็นสองวิธีหลัก ได้แก่ การวัดขนาด (Magnitude) และการวัดความรุนแรง (Intensity)
1. การวัดขนาดแผ่นดินไหว (Magnitude)
การวัดขนาดแผ่นดินไหวเป็นการประเมินพลังงานที่ถูกปลดปล่อยจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว มาตราที่ใช้วัดขนาดมีหลายประเภท เช่น
มาตราริกเตอร์ (Richter Scale)
พัฒนาโดยชาลส์ เอฟ. ริกเตอร์ ในปี พ.ศ. 2478 ใช้คำนวณขนาดของแผ่นดินไหวโดยอิงจากความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว มาตราริกเตอร์เป็นมาตราที่ประเทศไทยใช้งานเป็นหลัก และใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายแห่ง แต่มาตรานี้มีจุดอ่อนคือมีข้อจำกัดในการวัดแผ่นดินไหวที่มีขนาดความใหญ่กว่า 7 ริกเตอร์ และไม่สามารถวัดแผ่นดินไหวที่มีความไกลกว่า 600 กม.ได้
มาตราขนาดโมเมนต์ (Moment Magnitude Scale, Mw)
หรือที่มักคุ้นเคยกับหน่วยวัด แมกนิจูด มาตราขนาดโมเมนต์จะใช้งานสำหรับการประเมินขนาดแผ่นดินไหวโดยพิจารณาพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เพื่อใช้แทนมาตราริกเตอร์ และมาตราขนาดโมเมนต์นี้ยังถูกใช้เพื่อประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สมัยใหม่ทั้งหมดโดยสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS)
2. การวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity)
การวัดความรุนแรงเป็นการประเมินผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อผู้คน โครงสร้าง และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มาตราที่ใช้วัดความรุนแรง ได้แก่
มาตราเมอร์แคลลี่ (Modified Mercalli Intensity Scale, MMI)
มีการแบ่งมาตรวัดระดับความรุนแรงออกเป็น 12 ระดับ ตั้งแต่ I ที่เป็นอันดับที่มีระดับอ่อนมาก คนอาจไม่รู้สึก แต่เครื่องมือสามารถตรวจวัดได้ จนถึง XII ที่มีพลังทำลายล้างทุกอย่าง และสามารถมองเห็นคลื่นได้บนแผ่นดิน โดยมาตราเมอร์แคลลี่จะทำการพิจารณาจากความรู้สึกของผู้คน และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้าง
มาตราวัดความรุนแรงคลื่นไหวสะเทือนของแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (Shindo Scale)
มาตราวัดนี้ถูกใช้ญี่ปุ่น และไต้ไหว้เพื่อแบ่งระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวจาก 0 ที่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จนถึงระดับ 7 ที่จะรู้สึกเหมือนถูกโยน และเขย่าจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวนี้พิจารณาจากการสั่นสะเทือนที่วัดได้และผลกระทบที่เกิดขึ้น

แผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบหลากหลายด้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
แผ่นดินไหวทำให้เกิดความเสียหายในเชิงโครงสร้างของอาคาร
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้อาคาร บ้านเรือน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้รับความเสียหายหรือพังทลาย ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้คน รวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
แผ่นดินไหวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และภัยธรรมชาติ
แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติที่อาจทำให้เกิดรอยแตกบนพื้นดิน ดินถล่ม หรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวอาจส่งผลต่อระบบนิเวศได้ และยังส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วยเช่นกัน หากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใต้ทะเลหรือเกิดขึ้นในบริเวณใกล้ชายฝั่ง ก็อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งเป็นคลื่นยักษ์ที่สามารถทำลายพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
แผ่นดินไหวทำให้เกิดอัคคีภัย และการรั่วไหลของสารเคมี
การเกิดแผ่นดินไหวสามารถทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้ จากการแรงสั่นสะเทือนที่สร้างความเสียหายให้แผงวงจร ระบบไฟฟ้า และทำให้เกิดการลัดวงจรของระบบไฟฟ้า หรือแรงสะเทือนอาจทำให้เกิดการชำรุดของท่อ หรือจุดจัดเก็บก๊าซ และสารเครมี อาจทำให้เกิดการรั่วไหลขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและความเสียหายเพิ่มเติม
ผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม
ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม และเส้นทางคมนาคมอาจได้รับความเสียหาย ทำให้การให้บริการหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ปัญหาสุขภาพ และสังคม
แผ่นดินไหวอาจนำไปสู่ภัยพิบัติ และการระบาดของโรค เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมหลังเกิดภัยพิบัติ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้ประสบภัยพิบัติ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น การหยุดชะงักของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงผลกระทบต่อการลงทุนและการประกันภัย
การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดแผ่นดินไหว
จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน
เตรียมไฟฉาย วิทยุพกพา แบตเตอรี่สำรอง ชุดปฐมพยาบาล ยารักษาโรคประจำตัว น้ำดื่ม และอาหารแห้งที่เพียงพอสำหรับอย่างน้อย 72 ชั่วโมง
เรียนรู้การปิดระบบสาธารณูปโภค
ทราบวิธีปิดวาล์วน้ำ แก๊ส และสวิตช์ไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
วางแผนการอพยพ
กำหนดเส้นทางและสถานที่ปลอดภัยสำหรับการอพยพ และฝึกซ้อมกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
การรับมือการแผ่นดินไหวต้องทำอย่างไร
หากอยู่ภายในอาคาร
หมอบลง
ในขณะที่เริ่มเกิดแผ่นดินไหว ควรหาที่กำบังใต้โต๊ะ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรง เพื่อป้องกันศีรษะ และลำตัวจากสิ่งของที่อาจหล่นลงมา
อยู่ห่างจากหน้าต่างและกระจก
เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากเศษกระจกที่อาจแตกได้ในระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว ควรอยู่ห่างจากหน้าต่าง และกระจกต่างๆ เพื่อความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์
ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากในระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวมักจะไฟฟ้าดับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลิฟต์ค้าง หรือหยุดทำงาน
หากอยู่นอกอาคาร
ย้ายไปยังที่โล่งแจ้งอยู่ห่างจากอาคารสูง เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณา ที่อาจล้มทับได้
หากอยู่ในรถยนต์
หยุดรถในจุดปลอดภัย จอดรถในที่โล่ง หลีกเลี่ยงการหยุดใต้สะพาน ทางด่วน หรือใกล้สิ่งก่อสร้างที่อาจพังลงมา
การปฏิบัติตัวหลังเกิดแผ่นดินไหว
ตรวจสอบความปลอดภัย
ตรวจสอบตนเองและผู้อื่นว่ามีการบาดเจ็บหรือไม่ และให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามความจำเป็น
ตรวจสอบความเสียหายของอาคาร
หากพบรอยร้าวหรือความเสียหาย ควรออกจากอาคารและไม่กลับเข้าไปจนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
ตัวอย่างรอยร้าว
ระวังอาฟเตอร์ช็อก
เตรียมพร้อมสำหรับการสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นอีกหลังแผ่นดินไหวหลัก และปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยเช่นเดียวกับขณะเกิดแผ่นดินไหว
ติดตามข่าวสาร
ฟังข้อมูลและคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบสถานการณ์และการแจ้งเตือนเพิ่มเติม
ประกันรถยนต์ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากแผ่นดินไหวหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วประกันรถยนต์ เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติต่างๆ เช่นน้ำป่าไหลหลาก หรือไฟป่า รวมไปถึงประกันชั้น 2+ และประกันชั้น3+ ในบางกรมธรรม์ก็ให้ความคุ้มครองด้วยเช่นกัน หรือในบางกรมธรรม์ที่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองก็สามารถทำการติดต่อเพื่อขอซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ เพื่อความปลอดภัยของรถยนต์ และตัวของคุณเอง ควรตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยของคุณเอง เนื่องจากความคุ้มครองอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทประกัน
และถ้าใครกำลังมองหาประกันรถยนต์ราคาดี มีให้คุณได้เปรียบเทียบได้จากกว่า 20 บริษัทประกันภัยรถยนต์ชั้นนำ เช็กเบี้ยได้ฟรี และรวดเร็วได้ที่นี่ SILKSPAN
สรุป
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เนื่องจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในเปลือกโลก สาเหตุหลักมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก การระเบิดของภูเขาไฟ และกิจกรรมของมนุษย์ แผ่นดินไหวที่รุนแรงอาจสร้างผลกระทบขึ้นกับหลากหลายด้าน รวมไปถึงความเสียหายต่อโครงสร้างอาคาร การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และปัญหาสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น การจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน และการวางแผนการอพยพ รวมถึงการปฏิบัติตัวขณะและหลังเกิดแผ่นดินไหว สามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้