รู้หรือไม่ ป้ายภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. ไม่เหมือนกัน
เชื่อว่าคงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องเกิดความสับสนและอาจเข้าใจผิดได้ว่าป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. คือใบเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และถึงแม้ว่าสองสิ่งนี้จะถูกจัดแยกประเภทเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ใช้รถมือใหม่หลายคนยังคงสับสนระหว่างป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. อย่างแน่นอน วันนี้เราจะมาไขทุกข้อสงสัยระหว่างป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. แตกต่างกันอย่างไร ตามไปหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
ป้ายภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. เหมือนหรือแตกต่างกัน?
นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ใช้รถมือใหม่หลายคนต้องพบเจอ กับความสับสนระหว่างป้ายภาษีรถยนต์และ พ.ร.บ. ว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ คำตอบก็คือป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. ไม่ใช่อย่างเดียวกัน และทั้งสองอย่างนี้ก็ได้ถูกจัดแบ่งประเภทออกเอาไว้อย่างชัดเจน มาดูกันว่าป้ายภาษีรถยนต์คืออะไร และ พ.ร.บ. คืออะไร
ป้ายภาษีรถยนต์ คืออะไร?
สำหรับป้ายภาษีรถยนต์ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้รถทุกคนจะต้องทำการต่อภาษีทุกปี เพราะถ้าหากขาดการต่อภาษีนานติดต่อกันเกิน 3 ปีขึ้นไป จะถูกระงับทะเบียนในทันที และการทำเรื่องจดทะเบียนภาษีรถยนต์ใหม่เป็นเรื่องที่เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และอาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอีกด้วย ดังนั้น การต่อภาษีเป็นประจำทุกปีเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้รถควรให้ความสำคัญ โดยสามารถต่อภาษีก่อนหมดอายุได้ไม่เกิน 3 เดือน หากถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจแล้วพบว่าไม่มีป้ายภาษีรถยนต์ติดที่หน้ากระจกจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 2,000 บาท และที่สำคัญต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ให้เสร็จก่อนต่อภาษีทุกครั้ง
พ.ร.บ. คืออะไร
ต่อมาคือการทำ พ.ร.บ. เป็นการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามกฎหมาย พ.ร.บ. ปี 2535 ที่มีการกำหนดให้ยานพาหนะทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำ พ.ร.บ. ก่อนที่จะต่อภาษีรถยนต์ การทำ พ.ร.บ. มีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุให้กับบุคคลที่ใช้รถได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด ซึ่งกฎหมายจะคุ้มครองทั้งคู่กรณีและผู้เอาประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาล แต่จะไม่ได้คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ หากไม่ทำ พ.ร.บ. จะถือว่ามีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เอกสารใช้ในการต่อป้ายภาษีรถยนต์
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าป้ายภาษีรถยนต์และ พ.ร.บ. ไม่ใช่สิ่งเดียวกันและมีความแตกต่างกัน แต่ก่อนที่จะทำการต่อภาษีรถยนต์ต้องอย่าลืมทำ พ.ร.บ. ให้เสร็จเสียก่อนแล้วถึงจะสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ โดยเอกสารที่ใช้ในการต่อภาษีรถยนต์ ได้แก่
- เอกสาร พ.ร.บ. รถยนต์
- เล่มทะเบียนรถยนต์ หรือสำเนาการจดทะเบียนรถยนต์
- ใบตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี
- ใบติดตั้งแก๊ส สำหรับรถยนต์ที่มีการติดตั้งแก๊ส
ต่อป้ายภาษีรถยนต์ได้ที่ไหน?
หลังจากที่ได้ไขข้อสงสัยกันไปแล้วว่าป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. มีความแตกต่างกันอย่างไร พร้อมกับรู้แล้วว่าการต่อป้ายภาษีรถยนต์ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ต่อมาคือเรื่องของสถานที่ในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีที่ในปัจจุบันได้มีการเพิ่มช่องทางในการต่อภาษีรถยนต์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถเลือกได้ตามความถนัดของตัวเอง รวมทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก สำหรับสถานที่ในการต่อภาษีรถยนต์ ได้แก่
- กรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศ เป็นสถานที่ที่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ทั้งหมด ไม่ว่ารถยนต์ของคุณจะเป็นป้ายทะเบียนของจังหวัดใดก็ตาม
- ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ หากบ้านใครอยู่ใกล้ที่ทำการไปรษณีย์ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่สะดวกสบายในการต่อภาษีรถยนต์ได้เป็นอย่างมาก แต่ผู้ใช้รถจะต้องทำการเตรียมหลักฐานและเอกสารให้ครบถ้วน หลังจากนั้นรอป้ายวงกลมเพื่อส่งกลับมาตามที่อยู่ที่ได้ระบุเอาไว้
- เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นอีกหนึ่งช่องทางการต่อภาษีรถยนต์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลามากนัก โดยการต่อป้ายภาษีรถยนต์ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสจะทำการจัดส่งใบเสร็จและเอกสารเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ระบุเอาไว้ภายใน 10 วัน โดยการต่อภาษีรถยนต์ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสสามารถทำได้เฉพาะรถยนต์ใหม่มีเล่มจริง และเป็นรถยนต์ใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี
- ออนไลน์ การต่อภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์สามารถทำได้ 2 วิธี คือเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก และแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับเอกสารฉบับจริงทางไปรษณีย์หรือตู้ Kiosk ที่กรมการขนส่งทางบก
แอปพลิเคชัน mPay และ Truemoney Wallet สำหรับวิธีการต่อป้ายภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์สามารถทำได้เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่จดทะเบียนวันแรก
ค่าใช้จ่ายในการต่อป้ายภาษีรถยนต์
มาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงได้ข้อมูลเกี่ยวกับการต่อป้ายภาษีรถยนต์ไปแล้วเกือบครบถ้วน และสิ่งสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการต่อป้ายภาษีรถยนต์ สำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อป้ายภาษีรถยนต์จะพิจารณาการจัดเก็บตามขนาดเครื่องยนต์ของรถ ดังนี้
- 600 cc แรก ราคา 50 บาท ต่อ cc
- 601 – 1,800 cc ละ 1 บาท 50 สตางค์
- มากกว่า 1,800 cc ละ 4 บาท
ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีรถยนต์ขนาด 1,500 cc อายุการใช้งานรถ 1 ปี
- 600 cc แรก 300 บาท (ขนาด 600 cc x อัตราภาษี 50 บาท)
- ส่วนสอง 601 cc – 1,500 cc 1,350 บาท (ขนาด 900 cc x อัตราภาษี 50 บาท)
- คำนวณค่าภาษีรถยนต์ 1,500 cc อายุการใช้งานรถ 1 ปี รวมทั้งสิ้น 1,650 บาท
สรุปการต่อป้ายภาษีรถยนต์
สุดท้ายนี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้รู้กันไปแล้วว่าป้ายภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ. ไม่ใช่อย่างเดียวกัน และทั้งสองอย่างนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะรถยนต์ทุกคันจะต้องมีทั้งป้ายภาษีรถยนต์และ พ.ร.บ. เพื่อเป็นการประกันภัยต่อตัวรถและบุคคล สิ่งสำคัญคือทั้งสองอย่างนี้จำเป็นต้องทำการต่อทุกปีตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้าหากรถคันไหนไม่มีป้ายภาษีรถยนต์จะถือว่ามีความผิดที่ต้องเสียค่าปรับ และถ้าหากไม่มี พ.ร.บ. ก็จะไม่สามารถคุ้มครองและชดเชยค่าใช้จ่ายในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุได้