
เบิกประกันภัย พรบ. รถยนต์ ต้องทำอย่างไร ? มีเอกสารอะไรต้องเตรียมบ้าง

เคยสงสัยกันหรือไม่ ? ว่า พรบ. รถยนต์ ที่เราจำเป็นต้องต่อทุกปี ๆ นั้น มีประโยชน์อะไร แม้บางคนจะรู้เป็นอย่างดีว่า พรบ. คืออะไร แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่เข้าใจถึงการใช้งานจริง ๆ ของ พรบ. แถมบางคนยังคิดว่ามันคือการที่เราเสียภาษีรถยนต์อีกด้วย บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับ พรบ. ให้มากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา สามารถเบิกเงินค่ารักษาได้จริงไหม ? เบิกได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ ? และ มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร ? ทุก ๆ ข้อสงสัย SILKSPAN พร้อมนำคำตอบมาเสิร์ฟให้คุณถึงที่กันเช่นเคย
พรบ.รถยนต์ คืออะไร ? จำเป็นต้องทำหรือไม่
พรบ. รถยนต์ ย่อมาจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็น “ประกันภัยภาคบังคับ” ที่รถยนต์ทุกคนจะต้องทำ และต้องต่ออายุเป็นประจำในทุก ๆ ปี ซึ่งจะแตกต่างจากประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่ให้เราเลือกได้ว่า จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ หากถามว่าจำเป็นต้องทำหรือไม่ ? คำตอบคือ “จำเป็น” เพราะมีกฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคนจะต้องต่อ พรบ. ในทุก ๆ ปี มิฉะนั้นจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ และ หากปล่อยให้หมดอายุเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ ก็จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาทกันเลยทีเดียว
ประกันภัยภาคบังคับ พรบ. รถยนต์ ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง ?
ในเมื่อ พรบ. รถยนต์ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของประกันภัยรถยนต์ แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับ “ความคุ้มครอง” ที่จะมอบกับผู้ขับขี่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นมา หลายคนอาจจะมองข้ามว่า พรบ. นั้นไม่สำคัญ เพราะเชื่อในความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจมากกว่า ซึ่งที่จริงแล้วความคุ้มครองของ พรบ. เองก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยจะแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
-
ค่าเสียหายเบื้องต้น
เป็นความคุ้มครองของ พรบ. รถยนต์ ที่จะให้ความคุ้มครองในทันที โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แม้จะเป็นการเมาแล้วขับก็ยังให้ความคุ้มครอง ในส่วนนี้จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามจริงที่ 30,000 บาท และ เกิดความสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต จะได้รับเพิ่มเป็น 35,000 รวมแล้วในเบื้องต้นนี้ จะได้รับความคุ้มครองเป็นวงเงินสูงสุดอยู่ที่ 65,000 บาท หากเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีจะได้รับสูงสุดเพียงเท่านี้ แต่ถ้ามีคู่กรณีก็อาจได้ค่าสินไหมทดแทน หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝ่ายถูกในอุบัติเหตุครั้งนี้
หลังจากผ่านกระบวนการตรวจเรียบร้อยแล้ว จนสามารถสรุปแล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็จะได้ค่าสินไหมชดเชยจาก พรบ. รถยนต์ ทั้งในส่วนของ ค่ารักษาที่เพิ่มเป็น 80,000 บาท (เบิกได้ตามจริงเท่านั้น) หากสูญเสียนิ้วจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินชดเชย 200,000 บาท แต่ถ้าเป็นการสูญเสียอวัยวะส่วนอื่น ก็จะได้รับเงินคุ้มครอง 250,000 บาท หากทุพพลภาพถาวร หรือ เสียชีวิต ก็จะได้สูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท และถ้าในกรณีที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้เงินชดเชยระหว่างการพักรักษาวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน เป็นเงิน 4,000 บาท เป็นต้น

ขั้นตอนการเบิกสินไหมทดแทน พรบ. ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรต้องรู้
เมื่อเข้าใจถึงความคุ้มครองของ พรบ. รถยนต์ กันไปแล้ว ในหัวข้อนี้เราก็จะมาอธิบายขั้นตอนของการ เบิกสินไหมทดแทน พรบ. หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เคลม พรบ. นั่นเอง ซึ่งที่จริงแล้วขั้นตอนส่วนนี้ค่อนข้างยุ่งยากเลยทีเดียว แต่ไม่ต้องห่วงเราได้สรุปเนื้อหามาเป็นหัวข้อสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังต่อไปนี้
-
แจ้งสิทธิ์ทันทีเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
เมื่อประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ จนต้องเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ ในขั้นตอนนี้สามารถแจ้งกับโรงพยาบาลได้เลย ถึงสิทธิ์ความคุ้มครองจาก พรบ. รถยนต์ หากบาดเจ็บเล็กน้อยไม่ต้องนอนพัก ก็สามารถเดินเรื่องต่อด้วยตนเองได้เลย หากจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวเอง ก็สามารถใช้ญาติหรือคนสนิทเป็นผู้มอบอำนาจ เพื่อเดินเรื่องแทน จากนั้นก็ติดต่อกับบริษัทประกันภัยที่ซื้อ พรบ. มา เพื่อแจ้งความต้องการจะเคลม พรบ.
-
ลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน
ในขั้นตอนของการเบิกเงินชดเชยจาก พรบ. รถยนต์ จำเป็นต้องมี “สำเนาบันทึกประจำวัน” เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกิดอุบัติเหตุจริง ในขั้นตอนนี้อาจจำเป็นต้องเดินทางไปที่สถานีตำรวจ จากนั้นก็แจ้งความถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในเอกสารต้องมีรายละเอียดของอุบัติเหตุโดยละเอียดที่สุด ชนที่ไหน ชนเมื่อไหร่ ชนในลักษณะไหน มีคู่กรณีหรือไม่ คู่กรณีเป็นใคร ขับรถอะไร เป็นต้น
-
ยื่นเอกสารเพื่อเบิกสินไหมทดแทน พรบ.
เมื่อเอกสารจำเป็นอย่าง สำเนาบัตรประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบรับรองแพทย์ , ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล , สำเนาบันทึกประจำวัน หรือ เอกสารอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จริง ก็สามารถนำเอกสารไปยื่นเบิกกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ ที่ได้ซื้อ พรบ. รถยนต์ หรือในกรณีซื้อผ่านโบรกเกอร์ ก็สามารถติดต่อโบรกเกอร์ได้โดยตรง หากเอกสารทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ก็รอรับเงินสินไหมทดแทนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หลังจากวันเกิดเหตุ
** หมายเหตุ ** ขั้นตอนข้างต้นจะเล่าในมุมมองที่ใช้สิทธิ์ของ พรบ. รถยนต์ เท่านั้น หากมีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนนั้นอีกส่วนหนึ่ง ความคุ้มครองจะต่างหากกัน
บทส่งท้าย
ใครว่า พรบ. รถยนต์ ไม่มีประโยชน์ ? หากมองในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา ก็ยังมีเงินชดเชยมอบให้สูงสุดถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว โดยความคุ้มครองนั้นจะมอบให้กับผู้ขับขี่เท่านั้น ไม่รวมทรัพย์สินต่าง ๆ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ หากอยากได้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่านั้น จึงต้องเลือกซื้อ “ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ” ติดรถเอาไว้นั่นเอง
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะซื้อประกันรถยนต์ที่ไหนดี SILKSPAN พร้อมเป็นตัวเลือกสุดพิเศษของคุณ เพราะเรามีบริการสุดพิเศษเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ สามารถเปรียบเทียบเบี้ยประกันที่สนใจได้ , มีข้อเสนอจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ชั้นนำ , ส่วนลดสุดพิเศษกว่า 30% และ สิทธิพิเศษอีกมากมาย ยังไม่รวมกับการที่สามารถผ่อน 0% ได้ยาว ๆ 10 เดือน ไม่มีบัตรก็ผ่อนได้ หากสนใจแค่กรอกรายละเอียดด้านล่างบทความนี้เท่านั้น