ประกันภาคสมัครใจ คืออะไร ช่วยคุ้มครองอะไรบ้าง
ประกันภัยรถยนต์ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีรถจำเป็นต้องมี โดยปกติแล้วประกันรถยนต์ถูกแบ่งออกเป็นประเภท ได้แก่ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภาคสมัครใจ ถ้าหากเจ้าของรถมีความต้องการเลือกความคุ้มครองได้ตามใจชอบ การเลือกทำประกันภาคสมัครใจดูจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า แล้วประกันภาคสมัครใจคืออะไร ช่วยคุ้มครองอะไรได้บ้าง ตามไปหาคำตอบได้ในบทความนี้
ประกันภาคสมัครใจ คืออะไร
สำหรับประกันภาคสมัครใจ เป็นประกันภัยที่กฎหมายไม่ได้บังคับและขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัย โดยเป็นการตกลงกันระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย ซึ่งผู้ซื้อหรือเจ้าของรถสามารถเลือกระดับความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ประกันภาคสมัครใจ คุ้มครองอะไรบ้าง
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการทำประกันภาคสมัครใจเป็นการทำประกันที่กฎหมายไม่ได้บังคับ ผู้ใช้งานสามารถเลือกซื้อประกันภาคสมัครใจได้ตามความพึงพอใจ โดยความคุ้มครองของประกันภาคสมัครใจสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่
ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยหลัก
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก โดยมีจำนวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทประกันภัยรับประกันจำนวน 100,000 บาทต่อคน และ 10,000 บาทต่อครั้ง จำนวนเงินรับผิดชอบจะเป็นเงินส่วนเกินจากความคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- คุ้มครองความรับผิดชอบบุคคลภายนอก โดยคุ้มครองและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอก มีจำนวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทต้องรับประกันภัยจำนวน 200,000 บาทต่อครั้ง
- คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ โดยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับต่อรถยนต์ อุปกรณ์ และเครื่องตกแต่งต่าง ๆ แต่ไม่รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้ มีจำนวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทต้องรับประกันจำนวน 50,000 บาท
- คุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหาย หรือไฟไหม้ โดยคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์และส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ หรืออุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง และส่วนควบที่อยู่ติดประจำตัวรถยนต์ที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หรือสูญหาย
ความคุ้มครองเพิ่มเติม
- ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หากเกิดอุบัติเหตุจนนำมาสู่ความบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร บริษัทจะทำการชดเชยค่าสินไหมทดแทน
- ประกันภัยค่ารักษาพยาบาล หากเกิดอุบัติเหตุบริษัทจะชดใช้ค่ารักษาพยาบาล และค่าบริการต่าง ๆ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย
- ประกันตัวผู้ขับขี่ หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยถูกควบคุมตัวในคดีอาญา บริษัทประกันภัยจะประกันตัวบุคคลดังกล่าวให้
ประกันภาคสมัครใจ มีกี่ประเภท
ประกันภาคสมัครใจจะรับผิดชอบต่อความเสียหายในส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบของประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) โดยประกันภาคสมัครใจสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภท ดังนี้
กรมธรรม์ประกันรถยนต์ประเภท 1
สำหรับกรมธรรม์ประเภท 1 เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าการประกันรถยนต์ประเภทอื่น ๆ โดยมีความคุ้มครองหลัก 4 ประเภท ได้แก่
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์ที่เอาประกันภัย
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์
- คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
กรมธรรม์ประกันรถยนต์ประเภท 2
กรมธรรม์ประกันรถยนต์ประเภท 2 เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แต่จะไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ โดยมีความคุ้มครอง ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์ที่เอาประกันภัย
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
กรมธรรม์ประกันภัยประเภท 3
ต่อมาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภท 3 เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าประเภท 1 และประเภท 2 โดยจะทำการชดเชยค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์ที่เอาประกันภัย
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
กรมธรรม์ประกันภัยประเภท 4
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยประเภท 4 มอบความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจะให้ความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ต่อการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง
กรมธรรม์ประกันภัยประเภท 5
ประเภทของกรมธรรม์ประเภทสุดท้ายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภท 5 ที่คุ้มครองภัยเฉพาะที่พัฒนาขึ้นมาภายหลัง โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
แบบประกัน 2 พลัส (2+) ให้ความคุ้มครองแบบประกันภัยชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และจะต้องมีคู่กรณีด้วย โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารภายในรถ
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันที่เอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
- คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัย
แบบประกัน 3 พลัส (3+) ให้ความคุ้มครองแบบประกันภัยชั้น 3 แต่เพิ่มความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และจะต้องมีคู่กรณีด้วย โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารภายในรถ
- คุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันที่เอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
สรุปประกันภาคสมัครใจ
สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการทำประกันภัยรถยนต์มีความสำคัญต่อผู้ที่ใช้รถเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) หรือประกันภาคสมัครใจ เพื่อคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทั้งตัวเอง ทรัพย์สิน และบุคคลอื่นที่อาจได้รับผลกระทบร่วมด้วย การทำประกันภัยรถยนต์จะช่วยคุ้มครองทุกเรื่องให้คุณได้อุ่นใจในทุกการเดินทาง