สารพัดเรื่องการลดหย่อนภาษี สรุปครบจบในที่เดียว
ใกล้สิ้นปีฤดูกาลการลดหย่อนภาษีปี 2566 ก็วนกลับมาอีกแล้ว ถ้ามนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ มีการวางแผนภาษีล่วงหน้าว่าในปีนี้เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ รายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง ก็สามารถเซฟเงินในกระเป๋าเราไปได้หลายบาทเลย
แล้วรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง ? การวางแผนลดหย่อนภาษีมีความสำคัญอย่างไร ? บัตรเครดิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ไหม ? วันนี้ SILKSPAN ได้รวบรวมสารพัดเรื่องการลดหย่อนภาษี สรุปครบจบในที่เดียวมาไว้ให้คุณแล้ว
การวางแผนลดหย่อนภาษีมีความสำคัญอย่างไร ?
การวางแผนลดหย่อนภาษี อย่างแรกเลยคือทำให้เราได้เงินภาษีคืน ประหยัดเงินในกระเป๋าสามารถนำเงินมาเก็บไว้เพื่อการลงทุนหรือวางแผนการเงินในอนาคต
รายการลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง
รายการลดหย่อนภาษีปี 2566 เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้เสียภาษีสามารถนำไปหักออกจากเงินได้หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตทุก ๆ ปี โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 นี้แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว มีรายการลดหย่อน ดังนี้
- ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
- ค่าลดหย่อนภาษีฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน
ค่าลดหย่อนภาษี กลุ่มประกันและการลงทุน มีรายการลดหย่อน ดังนี้
- ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่และคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ มีรายการลดหย่อน ดังนี้
- ลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้าน เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีด้วยเงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีด้วยช้อปดีมีคืน 40,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่จ่ายจริง
4. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค มีรายการลดหย่อน ดังนี้
- ลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีด้วยการเงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- ลดหย่อนภาษีด้วยการเงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
ใช้จ่ายบัตรเครดิตสามารถลดหย่อนภาษีได้
รู้หรือไม่ ? ใช้จ่ายบัตรเครดิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ เงินบริจาคที่มาจากการแลกแต้มสะสมบัตรเครดิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 2 เท่า ถ้าต้องการใช้ยอดบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี
เมื่อเราแลกแต้มสะสมบัตรเครดิตไปเป็นเงินบริจาคเรียบร้อยแล้ว ทางมูลนิธิหรือองค์กรจะทำการจัดส่งใบเสร็จมาให้ตามที่อยู่จัดส่งใบแจ้งหนี้ ภายในเวลาประมาณ 60 วันหลังจากวันที่แลกแต้มสะสมเสร็จสิ้น แค่นี้เราก็สามารถนำใบเสร็จที่ได้รับเก็บไว้ยื่นลดหย่อนภาษีได้เลย
สรุปเกี่ยวกับรายการลดหย่อนภาษี
และทั้งหมดนี้ก็คือ รายการลดหย่อนภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2566 ที่ทาง SILKSPAN ได้รวบรวมมาให้แล้ว เราหวังว่าจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการเงินในการลดหย่อนภาษีกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 นั้น สามารถยื่นภาษีแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 หรือจะยื่นภาษีแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th
ใครที่กำลังมองหาหรือต้องการสมัครบัตรเครดิต SILKSPAN เราได้รวบรวมบัตรเครดิตจากหลากหลายธนาคารและสถาบันทางการเงิน ไม่ว่าคุณต้องการจะสมัครบัตรเครดิตอะไรดีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เราก็พร้อมบริการและเปรียบเทียบสิทธิพิเศษของบัตรต่างๆ และช่วยให้คุณสมัครบัตรเครดิตออนไลน์ได้อย่างสะดวก ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตที่สุด เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกสมัครบัตรจากธนาคารไหนดี ก็กลายเป็นเรื่องง่าย และรวดเร็ว