7 วิธี ช่วยให้ผู้สูงอายุขับรถอย่างปลอดภัย
สมัยนี้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยชอบที่จะพึ่งพาตัวเอง ไปไหนมาไหนเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ลูกหลานพาไป การขับรถก็เป็นอีกวิธีที่ผู้สูงอายุใช้ในการเดินทาง แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น สรรถภาพบางอย่างอาจลดลงกว่าเดิม ทำเอาลูกหลานเป็นห่วงเวลาผู้สูงอายุในบ้านขับรถเอง แต่ก็มีวิธีที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุขับรถได้อย่างปลอดภัยดังนี้
1. ฝึกให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
การตื่นตัวอยู่ตลอดเวลานั้นจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถที่พร้อมจะขยับ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้การหมุนพวงมาลัย การมองข้ามไหล่ หรือการนำรถเข้าจอดง่ายขึ้น
ผู้สูงอายุสามารถฝึกร่างกายให้ตื่นตัวตลอดเวลาได้โดยการเดิน ยืดกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ หากไม่เคยออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อยมาก ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ว่าควรเพิ่มระดับการออกกำลังกายอย่างไร
2. เช็กสายตา และการได้ยินอย่างสม่ำเสมอ
เมื่ออายุมากขึ้น ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสมรรถภาพการมองเห็น และการได้ยินนั้นย่อมถดถอยลง บางครั้งผู้สูงอายุอาจไม่ได้ยินเสียงรถที่กำลังเข้ามาใกล้ หรือเป็นโรคทางตาบางอย่างอาจทำให้มองเห็นไม่ชัด ไม่ว่าจะเป็นต้อกระจก ความดันในลูกตาสูง หรือจอประสาทตาเสื่อม
ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะรู้สึกว่ายังสามารถได้ยิน และมองเห็นได้ปกติก็ตาม นอกจากจะเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่แล้ว ยังทำให้สามารถตรวจพบปัญหาได้แต่เนิ่นๆ และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
3. หาวิธีจัดการกับโรคประจำตัว
หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจรวมถึงการปรับแผนการรักษา หรืออาจจะต้องงดการขับรถ
นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรรู้ผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวที่รับประทานเข้าไป เพราะยาบางอย่างอาจมีผลต่อการขับขี่ ดังนั้นอย่าขับรถ หากรู้สึกง่วง หรือเวียนหัว
4. รู้ขีดความสามารถของตัวเอง
ผู้สูงอายุควรปรับการขับขี่เพื่อให้เหมาะกับร่างกายตนเอง เช่น หากมีอาการเจ็บมือเวลาจับพวงมาลัย ก็ควรใช้ที่หุ้มพวงมาลัยรถเพื่อให้จับถนัดมากขึ้น บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแต่งรถ หรือเปลี่ยนรุ่นรถไปเลย ซึ่งรถรุ่นใหม่ๆ มักมาพร้อมกับฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ช่วยให้กับผู้สูงอายุขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น หลีกเลี่ยงการชน เปลี่ยนเลนได้อย่างปลอดภัย หรือช่วยแก้จุดบอดต่างๆ
5. เลือกช่วงเวลา ถนน และขับขี่เมื่อพร้อม
ผู้สูงอายุควรเลือกขับรถตอนกลางวันที่สภาพอากาศดี และหลีกเลี่ยงการขับรถในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนี้ ไม่ควรขับรถหากรู้สึกเหนื่อย หงุดงหงิด หรือหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ
หลีกเลี่ยงกิจกรรมทุกอย่างที่จะทำให้คุณต้องละสายตาจากถนน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ปรับวิทยุ หรือใช้โทรศัพท์ หากจำเป็นจำต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการนำทาง ให้เลือกจุดหมายปลายทางให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกรถ หรือศึกษาเส้นทางล่วงหน้า
7. อัพเดททักษะการขับรถ
ผู้สูงอายุก็สามารถลงเรียนขับรถเพื่อช่วยปัดฝุ่นทักษะการขับรถ และเสริมความมั่นใจได้เช่นกัน แต่ถ้าหากรู้สึกหรือมีผู้เห็นว่าผู้สูงอายุดูสับสน หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ระหว่างขับรถ ผู้สูงอายุท่านนั้นก็ควรหยุดขับรถเสีย
อย่างไรก็ตามหากพบว่าร่างกายของตัวเองไม่เหมาะกับการขับรถแล้วก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถสาธารณะ จ้างรถตู้ หรือจ้างคนขับรถ นอกจากจะปลอดภัยกว่าแล้ว ยังไม่เหนื่อยอีกด้วย และเพื่อความอุ่นใจ ก็ควรทำประกันสำหรับผู้สูงอายุไว้ด้วยก็จะดี