สาเหตุที่ทำให้รถ เบรกแตก!!!
หากพูดถึงอุบัติเหตุอันตรายจากการขับรถ เชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกถึงเรื่อง เบรกแตก เป็นอันดับต้นๆ เพราะหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริงๆ ความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สิน มีโอกาสสูงมากทีเดียว แม้ว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างยากก็ตาม
สำหรับอาการเบรกแตก จริงๆ แล้วเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หลายสาเหตุ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลรักษา และตรวจเช็กสภาพการใช้งานนั่นเอง
เอาเป็นว่า มาดูสาเหตุหลักอื่นๆ กันดีกว่า ว่ามีอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้รถของคุณเบรกแตก
1. น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ
จนทำให้ลูกยางในกระบอกปั๊มล้อที่ทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันรั่ว เสื่อมสภาพตามไปด้วย จึงทำให้น้ำมันเบรกรั่วออกมา ซึ่งหากคุณอยากตรวจสอบลูกยางตัวนี้ ก็สามารถทำได้ง่าย แค่เพียงถอดล้อออก จากนั้นถอดจานเบรกแล้วเปิดยางกันฝุ่นที่ครอบตัวกระบอกปั๊มออกมา และสังเกตดู หากมีน้ำมันเบรกรั่วออกมา ก็แปลว่าลูกยางเสื่อมแล้ว จัดการเปลี่ยนได้เลย
2. สายอ่อน หรือท่อทางเดินน้ำมันเบรกรั่ว
อาการนี้ดูได้ง่ายๆ หากมีคราบ หรือรอยซึมของน้ำมันเบรกไหลออกมา
3. แรงดันของน้ำมันเบรกมาไม่เต็มระบบ
อาการนี้เกิดขึ้นเพราะมีอากาศอยู่ในระบบน้ำมันเบรก ซึ่งอาจเป็นเพราะการไล่อากาศ หรือไล่ลมออกไปไม่หมดจากระบบ เมื่อตอนเปลี่ยนน้ำมันเบรกใหม่ ฯลฯ จึงทำให้ไม่สามารถส่งแรงดันไปได้อย่างเต็มที่
4. น้ำมันเบรกหมด หรือเหลือน้อย
มันจะส่งผลทำให้เบรกใช้งานได้ไม่เต็มที่ เบรกไม่ค่อยอยู่ หรือเบรกจมลึกผิดปกติ ฯลฯ ให้ตรวจเช็ก และเติมน้ำมันเบรกให้ถึงระดับที่กำหนด
5. น้ำมันเบรกชื้น
ขณะที่กดเบรกลงไป เบรกจะมีความร้อน และการเสียดสีเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อน้ำมันเบรกมีความชื้นผสมอยู่ มันก็จะระเหยกลายเป็นไอ ลูกสูบไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้เบรกไม่อยู่นั่นเอง
6. สายเบรกขาด
แม้เปอร์เซ็นต์ในการเกิดขึ้นจะน้อย แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ซึ่งวิธีสังเกตให้ตรวจดูใต้ท้องรถว่ามีน้ำมันรั่วหรือไม่ และก่อนออกรถให้ทดสอบเหยียบเบรกดูก่อน ว่าเบรกอยู่รึเปล่า
7. ผ้าเบรก
หากผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกไหม้ ฯลฯ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่รถของคุณจะเบรกแตกได้เช่นกัน
อาการเบรกแตกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของคุณได้ ทางที่ดีคุณจึงควรหมั่นตรวจเช็กระบบเบรก และน้ำมันเบรกเป็นประจำ นอกจากนี้ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกเมื่อถึงระยะที่กำหนดทุกครั้ง รวมไปถึงผ้าเบรกด้วย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้