
ฟรีแลนซ์ทำบัตรเครดิตได้หรือไม่

ฟรีแลนซ์ (Freelance) คือ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ รับงานและทำงานตามสั่งของผู้ว่าจ้าง ไม่ขึ้นตรงต่อองค์กร หรือบริษัทใดๆ บริหาร วางแผน และจัดการตารางงานด้วยตัวเอง งานที่ฟรีแลนซ์มักจะรับทำ และเป็นที่รู้จักได้แก่ กราฟิกดีไซน์ ทำเวปไซต์ งานเขียนและแปลภาษา งานการตลาด เกมแคสเตอร์ เป็นต้น
ฟรีแลนซ์เองก็ถือว่าเป็นคนทำงานกลุ่มนึงซึ่งมีความต้องต้องการใช้บัตรเครดิต นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถมีไว้เพื่ออุ่นใจยามที่ต้องการเงินเพื่อสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายบางส่วน
ฟรีแลนซ์สามารถทำบัตรเครดิตได้ง่ายๆ ได้อย่างไรบ้าง
1.ทำบัตรเครดิตสำหรับฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ
ผู้ที่ต้องการทำบัตรเครดิตด้วยวิธีนี้ สามารถสอบถามธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่สนใจว่ามีบริการทำบัตรสำหรับฟรีแลนซ์หรือไม่ และสามารถเตรียมเอกสารหลักดังต่อไปนี้เข้าไปได้เลย
- บัตรประชาชน
- Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
- หน้าสมุดบัญชี
- ใบ 50 ทวิ
หลังจากทางผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้รับเอกสารแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งสามารถศึกษาเกณฑ์การพิจารณาได้เพิ่มเติมก่อนการยื่นเอกสารเพื่อช่วยให้ผ่านเกณฑ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น อาจมีเอกสารตัวอื่นเพิ่มเติม อย่าลืมสอบถามทางผู้ให้บริการบัตรเครดิตเพื่อความถูกต้องกันด้วย
2.ทำบัตรเครดิตแบบฝากค้ำประกัน
บัตรเครดิตประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารต่างๆ เหมือนในประเภทแรก และสามารถแจ้งกับทางผู้ให้บริการได้เลยว่าต้องการทำบัตรเครดิตแบบฝากค้ำประกัน ทางผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะเปิดบัญชีและให้นำวงเงินขั้นต่ำไปฝากค้ำประกันไว้ โดยมีวงเงินเริ่มต้นประมาณ 15,000 บาท ก็สามารถทำได้แล้ว และถ้าหากต้องการเพิ่มวงเงินก็สามารถนำเงินฝากเข้าไปเพื่อเพิ่มได้เลย แต่ก็อย่าลืมว่าเงินที่อยู่ในบัญชีที่ใช้ค้ำประกันนั้นไม่สามารถถอนออกมาใช้จ่ายได้ และจะได้คืนต่อเมื่อยกเลิกบัตรเครดิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
ฟรีแลนซ์ทำบัตรเครดิต ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง
รายได้ที่ไม่แน่นอน
การมีรายได้ที่ไม่แน่นอน อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือกับทางสถาบันทางการเงิน หรือธนาคาร สิ่งที่ช่วยได้อาจเป็นการทำงานรายได้จากการทำงาน อัปเดต statement หรือการเก็บหลักฐานทางการจ้างงาน และจ่ายเงินจากทางลูกค้า
การจัดการภาระหนี้สิน
เช่นการจากใช้งานบัตรเครดิตเกินตัว ทำให้เกิดหนี้สะสมซึ่งยากต่อการชำระคืน ในกรณีนี้อาจเลือกใช้จ่ายเฉพาะในกรณีที่จำเป็น และทำการวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าสามารถช่วยจัดการในด้านการเงินได้
การชำระเงินล่าช้า
เนื่องการทำงานที่ไม่ได้มีเวลาอย่างชัดเจนอาจทำให้ฟรีแลนซ์อาจหลงลืมวันชำระค่าบัตรเครดิตไปได้ ซึ่งการชำระเงินไม่ตรงเวลาอาจส่งผลต่อคะแนนเครดิตและทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทางแก้คือทำการตั้งการแจ้งเตือนวันครบกำหนดชำระผ่านแอปพลิเคชันหรือปฏิทิน หรือทำการตัดเงินออโต้จากบัญชีธนาคาร
ติดสถานะหนี้เสียในเครดิตบูโร
ด้วยเหตุผลจากการทำงานของฟรีแลนซ์ และความไม่มั่นคงในเรื่องรายรับจากการจ้างงาน อาจทำให้เกิดการค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน และอาจทำให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งส่งผลต่อเครดิตบูโรขึ้นได้เช่นกัน

วิธีตรวจสอบสถานะเครดิตบูโรของตนเอง
การตรวจสอบสถานะเครดิตบูโรเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามและดูแลประวัติทางการเงินของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1.ขั้นตอนการขอตรวจสอบรายงานเครดิตบูโร
- เตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น บัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประชาชนที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรอกแบบฟอร์มขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
- ยื่นคำร้องพร้อมชำระค่าธรรมเนียมตรวจสอบรายงาน (ประมาณ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับช่องทาง)
2.สถานที่และช่องทางในการตรวจสอบเครดิตบูโร
- ศูนย์บริการเครดิตบูโร
เช่น ศูนย์บริการในธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB) หรือสำนักงานที่กำหนด
- ผ่านธนาคารพาณิชย์
ธนาคารบางแห่งมีบริการตรวจสอบเครดิตบูโรในสาขาของตนเอง
- ตรวจสอบออนไลน์
ใช้บริการแอปพลิเคชันของเครดิตบูโร เช่น “ตรวจเครดิตบูโรออนไลน์” หรือผ่านเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
เคล็ดลับในการรักษาประวัติเครดิตให้ดี
การรักษาประวัติเครดิตบูโรให้อยู่ในสถานะที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงิน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.การจัดการการเงินเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย
- ตั้งงบประมาณการใช้จ่าย ควรกำหนดรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนอย่างชัดเจน และหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว
- มีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อป้องกันสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วย หรือการซ่อมรถ
2.ชำระหนี้ตรงเวลา
- ตั้งการแจ้งเตือนวันชำระหนี้ เช่น การตั้งเตือนในโทรศัพท์มือถือ
- ใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติ (Auto Debit) เพื่อให้มั่นใจว่าการชำระหนี้ตรงตามกำหนด
3.การวางแผนการใช้จ่าย
- ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดอย่างระมัดระวัง โดยไม่ควรใช้เต็มวงเงิน
- หากมีหลายบัญชีหนี้ ควรจัดลำดับความสำคัญในการชำระ โดยเริ่มจากหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน
4.ตรวจสอบเครดิตบูโรเป็นประจำ
- ตรวจสอบสถานะเครดิตของตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีข้อมูลผิดพลาดหรือความผิดปกติ
ก่อนการทำบัตรเครดิตสำหรับฟรีแลนซ์ ก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลของบัตรแต่ละใบเพื่อเลือกใช้ให้ได้ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อความคุ้มค่า และสะดวกต่อการวางแผนการใช้งาน
*การใช้งานบัตรเครดิตควร “ใช้เท่าที่จําเป็นและชําระคืนได้เต็มจํานวนตามกําหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี”
เงื่อนไขและการพิจารณาอนุมัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด