3 วิธีพักชำระหนี้บัตรเครดิตในช่วงโควิด-19
ในวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ ทำให้เกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการใช้ชีวิตที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและยังทำให้ใครหลายๆ คนเกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ ลูกจ้างและคนธรรมดา ส่งผลให้ผู้ใช้งานบัตรเครดิตที่มีหนี้ค้างชำระอยู่อาจเกิดความล่าช้าในการชำระเนื่องจากไม่ได้รับรายได้เท่ากับตอนปกติซึ่งรายจ่ายก็ยังมีเท่าเดิม การพักชำระหนี้ คือ ทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินได้ ลองมาดูการพักชำระหนี้วิธีต่างๆ กัน
การพักชำระหนี้บัตรเครดิต ทำได้กี่วิธี?
การพักชำระหนี้เป็นมาตรการที่จะช่วยลูกหนี้ช่วงโควิด-19 ที่ทางธนาคารและสถาบันทางการเงินชั้นนำต่างออกมาตรการมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตอบโจทย์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ลองมาดูมาตรการและวิธีช่วยในการพักชำระหนี้หรือลดหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกกัน
1. พักชำระหนี้
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติออกมาตรการพักชำระหนี้ขั้นต่ำ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยได้รับสิทธิ์การพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 รอบบัญชีหรืองวด และในผู้ให้บริการบางรายอาจเพิ่มเวลาพักชำระหนี้ให้สูงสุดถึง 6 รอบบัญชีตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการบัตรเครดิตใบนั้นๆ
2. ลดการจ่ายขั้นต่ำ
ปรับลดอัตราชำระคืนขั้นต่ำให้แก่ลูกหนี้ เช่น จากปกติต้องจ่ายขั้นต่ำ 10% ของยอดใช้จ่ายจะเหลือเพียง 5-8% และลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มให้ถึง 2% ตามเงื่อนของระยะเวลาในการชำระหนี้ วิธีนี้เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระหนี้ได้แต่ไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวน ซึ่งลูกหนี้สามารถจ่ายได้เท่าที่จ่ายไหวตามขั้นต่ำในการจ่ายตามมาตรการที่ธนาคารและสถาบันการเงินที่ให้บริการบัตรของท่านมอบให้
3. ปรับโครงสร้างหนี้
สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ย 12% นานถึง 48 เดือน ซึ่งสามารถทำให้ค่างวดในแต่ละเดือนลดลง 40-50% หากต้องการปรับโครงสร้างหนี้สามารถแจ้งความประสงค์กับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่ท่านทำบัตรเครดิตได้เลย ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้นั้นอาจส่งผลให้ทางผู้ให้บริการอาจพิจารณายกเลิกบัตรเครดิตของท่านได้
เงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับการพักชำระหนี้
– ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ
ในบางผู้ให้บริการอาจมอบสิทธิ์สำหรับการพักชำระหนี้ 2 เดือนให้กับผู้ที่ใช้งานบัตรเครดิตทุกใบ แต่ในบางผู้ให้บริการ ผู้ใช้งานต้องทำการสมัครและยื่นเรื่องขอพักชำระหนี้กับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการของบัตรเครดิตที่ใช้อยู่ด้วยตนเอง สามารถทำได้ทั้งการไปทำเรื่องที่ธนาคารและสามารถทำได้ทั้งทางออนไลน์
– ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
การพักชำระหนี้นั้น ในบางผู้ให้บริการอาจมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ต้องปิดกิจการ และผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ที่ร้านค้าหรือบริการต้องปิดกิจการตามประกาศของ ศบค. เช่น ร้านเสริมความงาม ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า ร้านนวด-สปา เป็นต้น โดยต้องมีหลักฐานพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ศบค. ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ทางผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายนั้นๆ กำหนด
– ไม่เป็นลูกหนี้เสีย NPL
ในบางผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะไม่ให้สิทธิ์แก่ลูกหนี้ NPL หรือ “หนี้เสีย” ซึ่งจะเกิดจากการที่มีสินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนติดต่อกัน ทางสถาบันการเงินจะถือว่ายอดหนี้นั้นเป็นหนี้เสียและจะมีการรายงานข้อมูลและขึ้นสถานะกับทางเครดิตบูโร ซึ่งการเป็นลูกหนี้ NPL จะทำให้ไม่สามารถทำเรื่องขอพักชำระหนี้ในช่วงโควิด-19 นี้ได้
อย่างไรก็ตามการเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่อาจเป็นสิ่งที่หลากหลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ หากท่านกำลังเป็นหนี้บัตรเครดิตและต้องการจะพักชำระหนี้ควรศึกษาเงื่อนไข แจกแจงรายละเอียดหนี้ที่มี และจำนวนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเพื่อทำการพิจารณาทางเลือกสำหรับการพักชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ให้ครบจำนวน
*การใช้งานบัตรเครดิตควร “ใช้เท่าที่จําเป็นและชําระคืนได้เต็มจํานวนตามกําหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี”
เงื่อนไขและการพิจารณาอนุมัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด